Think In Truth

จับตาอภิมหาเมกะโปรเจกต์'แลนด์บริดจ์' 1ล้านล้าน(ตอนที่1) โดย...พินิจ จันทร



เป็นที่ถกเถียงกันมานานเกี่ยวกับการเชื่อมโยงการขนส่งทางเรือระหว่างฝั่งทะเลอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาและอ้อมแหลมมลายูนั้น ควรจะขุดคลองคอคอดกระเชื่อมเส้นทางเดินเรือหรือสร้างแลนด์บริดจ์ ดี

สำหรับแนวคิดเรื่องการขุดคลองนั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีพระราชดำริจะขุด “คอคอดกระ”(อ่านในตอนที่ 3)  เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเคลื่อนกองทัพเรือจากฝั่งอ่าวไทยไปฝั่งทะเลอันดามัน แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการมาจนสมัยรัชกาลที่ 4 ฝรั่งเศสคิดจะขุดคอคอดกระเพื่อร่นระยะทางในการเดินเรือจากฝั่งทะเลอันดามันข้ามมายังฝั่งอ่าวไทย แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการเช่นกัน

จนกระทั่งปี 2544 วุฒิสภาไทยได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ แต่ไม่ได้ขุดในบริเวณนั้นเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นหินและภูเขา โดยบริเวณคอคอดกระอยู่ที่ชายแดนพม่าปากแม่น้ำกระบุรี จะมีปัญหาเรื่องความมั่นคง จึงขยับบริเวณที่จะขุดที่มีความเป็นไปได้ และเกิดประโยชน์สูงสุด คือเส้นทาง 9Aผ่านจังหวัดกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลาระยะทาง 120 กิโลเมตรให้เรียกชื่อคลองว่า “คลองไทย” แต่แนวความคิดนี้เกิดขึ้นได้ยากพอๆกัน ด้วยเหตุผลหลากหลายอย่าง

ทั้งนี้ไม่ว่าจะด้วยอุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปีก็ยังไม่สามารถสร้าง “คลองไทย” ได้ จึงมีความพยายามจะริเริ่มทำ โครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ขึ้นมาแทนคือแทนที่จุดขุดคลองตัดแผ่นดินก็ใช้วิธีการขนส่งที่ผสมผสานประกอบด้วยทางหลวงแผ่นดินและทางรถไฟเชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทร เข้าด้วยกันแทน ซึ่งวิธีนี้จะใช้งบประมาณน้อยกว่าและไม่ต้องตัดแบ่งแผ่นดินออกจากกัน

โดยที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์หลายพื้นที่ เช่น สมัยรัฐบาล “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธช่วงปี 2539-2540 จะทำแลนด์บริดจ์ระหว่างรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย กับจังหวัดสงขลา ประเทศไทยแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ

ต่อมารัฐบาลได้จัดทำโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด เชื่อมระหว่างจังหวัดกระบี่ กับ อ.ขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการตัดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 44 หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถนนเซาท์เทิร์น” เรียบร้อยในปี 2546 โดยเกาะกลางถนนเว้นพื้นที่เอาไว้ เพื่อก่อสร้างท่อส่งน้ำมันและทางรถไฟ เนื้อที่ประมาณ 15,000 หมื่นไร่ ยาวประมาณ 133 กิโลเมตรแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ก่อสร้าง เพราะจุดที่จะก่อสร้างท่าเรือและคลังน้ำมันอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว และถูกกระแสต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ จึงให้ศึกษาเส้นทางใหม่ ปัจจุบันเกาะกลางถูกทิ้งร้าง แถมมีชาวบ้านบางคนบุกรุก เอาที่ดินหลวงไปทำสวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา เกิดข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่รัฐ

อีกโครงการหนึ่ง คือเส้นทางแลนด์บริดจ์ระหว่างท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล กับท่าเรือจะนะ จังหวัดสงขลา แต่ก็มีการรวมตัวกันของชาวบ้าน คัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการแลนด์บริดจ์สตูล-สงขลา เพราะกระทบกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล มีการชุมนุมประท้วงเกิดการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ สุดท้ายกรมเจ้าท่าเซ็นสัญญายุติโครงการท่าเรือปากบาราเมื่อปี 2563

มาถึงยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) เริ่มต้นจากแหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร สิ้นสุดที่บ้านอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง โดยโครงสร้างพื้นฐานของการเชื่อมโยงประกอบด้วย

  • ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่จังหวัดชุมพร
  • ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน ที่จังหวัดระนอง
  • สร้างถนนมอเตอร์เวย์6 ช่องจราจร กับ รถไฟทางคู่ ระยะทางประมาณ94กิโลเมตร เพื่อเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่ง
  • ใช้งบประมาณราว 1 ล้านล้านบาท

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์คาดว่า เมื่อโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง แล้วเสร็จ ก่อให้เกิดประโยชน์ดังนี้คือ

  • ช่วยลดระยะเวลาขนส่งสินค้า จากช่องแคบมะละกาแต่เดิม 9 วัน เหลือเพียง 5 วัน
  • รองรับเรือบรรทุกสินค้าได้ประมาณ 400,000 ลำต่อปี
  • เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในพื้นที่ภาคใต้จาก 2% เป็น 10% อย่างน้อย 10 ปี
  • สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ประโยชน์ดังกล่าว ไม่นับรวมกับการเพิ่มการจ้างงาน สร้างอาชีพใหม่ให้กับชุมชน โดยในเชิงพาณิชย์จะเกิด อาคารสำนักงาน, อาคารพาณิชย์, โรงแรมให้เช่า, สถานีบริการต่าง ๆที่อยู่อาศัยจะก่อเกิด การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนานใหญ่ ทั้งบ้านพัก คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ให้เช่า ไม่นับรวมกับองค์ประกอบอื่น ๆ ที่จะตามมากับการสร้างชุมชนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่มโหฬาร เนื่องจากโครงการนี้เป็นเมกะโปรเจ็กต์ขนาดล้านล้านบาท และต้องรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่กว่า 4-5 แสนลำต่อปีก่อให้เกิดอุตสาหกรรมบริการไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร, ร้านค้าปลีก, ร้านค้าส่ง, สถานบันเทิง, โรงพยาบาล, การเงิน-การธนาคาร, การสื่อสาร, การประกันภัย

นอกจากนี้ย่อมจะส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมเบาต่าง ๆ เช่น การประกอบชิ้นส่วน, ยานยนต์, อาหาร, โลจิสติกส์ ฯลฯ

 

ในช่วงขึ้นมา ดำรงตำแหน่งใหม่ๆ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เคยกล่าวถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ว่า “เป็นโครงการใหญ่ที่มีมูลค่าลงทุนสูงมาก อีกทั้งยังมีประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความคุ้มค่าในการลงทุน การหาผู้ประกอบการร่วมลงทุน จึงเห็นว่าค่อนข้างยากและต้องใช้เวลา”ทำให้เกิดกระแสข่าวว่า นายสุริยะจะไม่สานต่อโครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลประยุทธ์เคยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาจัดทำโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศว่าจะเดินหน้าผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ในพื้นที่ภาคใต้อย่างเต็มที่ เพราะเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภาคใต้ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีท่าทีจาก ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ภาคใต้ ซึ่งเคยเป็นเจ้ากระทรวงคมนาคมสมัยรัฐบาลที่แล้ว ออกมาเคลื่อนไหว อย่าง นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ แถลงข่าวเรียกร้องให้นายสุริยะทบทวนเรื่องนี้ เพราะจะสูญเสียประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ และ ไม่อยากให้มีข่าวออกไปว่า รัฐบาลลดโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อชดเชยในนโยบายบางเรื่องแทน

ภายหลัง นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษา รมว.คมนาคม โพสต์ข้อความหัวข้อ “ท่านสุริยะไม่เคยพูดเรื่องยกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์” โดยระบุว่า แลนด์บริดจ์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีวงเงินลงทุนสูง ต้องร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ และตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเฉพาะเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด

ในปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ในไทม์ไลน์ของการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งจะมีการเสนอให้ ครม.เห็นชอบหลักการในเดือนตุลาคม 2566 อนุมัติ EHIA ปลายปี 2567 เปิดประมูลในช่วงกลางปี 2568

หมายเหตุ : อ่านต่อตอนที่ 2พลิกโฉมเส้นทางขนส่งโลกประตูการค้าใหม่และเศรษฐกิจไทย