In Thailand

รองอธิบดีปภ.ลุยประกวดอปท.ดีเด่นปี'67 ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 



ประจวบคีรีขันธ์-รองอธิบดีกรม ปภ.เผยโครงการจัดประกวดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปี2567 เพื่อเฟ้นหา อปท.ดีเด่นใน 3ประเภท เทศบาลนคร/เมืองพัทยา เทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล เกี่ยวด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 

วันที่ 23 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเธียรชัย  ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการประกวดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นางปนัดดา ภู่เจริญศิลป์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการป้องกันสาธารณภัย นายชัยธวัช ศิวบวร ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ นายโสภณ ทองไสย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสาธารณภัย นายธนวัฒน์ เรืองเดช ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และคณะฯ ร่วมลงพื้นที่ติดตามโครงการฯ ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ 

นายเธียรชัย  ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยระดับพื้นที่ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับประชาชน และเป็นหน่วยงานแรกที่เข้าเผชิญเหตุเมื่อเกิดสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงได้จัดให้มีโครงการประกวดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่น ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้น โดยการประกวดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทเทศบาลนคร/เมืองพัทยา ประเภทเทศบาลเมือง และประเภทเทศบาลตำบล ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมการโครงการ

 

สำหรับการแข่งขันแบ่งเป็น 4 สถานี ได้แก่สถานีการกู้ภัยทางน้ำ สถานีการช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยข้ามลำน้ำด้วยระบบเชือกกู้ภัย สถานีดับเพลิง และสถานีการทดสอบร่างกาย การประกวดในครั้งนี้ เป็นการให้ความรู้และแข่งขันทักษะด้านการกู้ภัย พัฒนาทักษะความสามารถในการเผชิญเหตุ ยกระดับและเตรียมความพร้อมการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน รวมถึงเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่

“โครงการดังกล่าว ไม่ได้มุ่งเน้นที่ผลการแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่เน้นการเพิ่มศักยภาพ ทักษะความสามารถ ให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติขณะออกเหตุ และผลสัมฤทธิ์สูงสุดในการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องยอมรับว่า สาธารณภัยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะภัยทางน้ำ ที่เกิดได้หลากหลายรูปแบบ ดังนั้นการเสริมศักยภาพด้านการกู้ภัยและช่วยเหลือทางน้ำ จึงเป็นสิ่งที่ทางกรม ปภ.ให้ความสำคัญไม่แพ้ภัยชนิดอื่น”  นายเธียรชัย กล่าว

พิมพร/ประจวบคีรีขันธ์