EDU Research & ESG

เทคโนฯวว.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจปทุมธานี ในการผลิตและใช้สารสกัดเกษตรกรรม



ปทุมธานี-เป็นพื้นที่จังหวัดเครือข่ายพันธมิตรของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

จังหวัดปทุมธานีพื้นที่ทั้งหมด 953,660 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 353,308.17 ไร่ (36.66% ของพื้นที่ทั้งหมด) เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืช 332,992.02 ไร่ ได้แก่ ข้าว 248,536.81 ไร่ ไม้ผล 35,895.55 ไร่ ไม้ยืนต้น 15,418.63 ไร่พืชผัก 21,445 ไร่ไม้ดอกไม้ประดับ 6,093.14 ไร่ พืชไร่3,837.77 ไร่ สมุนไพร 1,765.13 ไร่ และพื้นที่ประมง 20,316.15 ไร่ (ข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดปทุมธานีเป็นที่ราบลุ่มริมสองฝั่งแม่น้ำโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านใจกลางจังหวัด สภาพดินมีลักษณะเป็นดินเหนียวจัดเป็นกรดปานกลางถึงเป็นกรดจัดมี pH ประมาณ 6–4เนื่องจากลักษณะดินเป็นดินเหนียวทำให้การระบายน้ำไม่ดี และการไหลบ่าของน้ำบนผิวดินช้าไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชไร่ และการปลูกข้าวได้ผลผลิตต่ำ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของดินเพื่อให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตดีขึ้น

วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ นำความเชี่ยวชาญของนักวิจัย ตลอดจนเทคโนโลยี นวัตกรรมการเกษตรเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานีอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนิน โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดปทุมธานีด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มุ่งเน้นให้การทำเกษตรกรรมของจังหวัดได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีความเข้มแข็งและมั่นคงในอาชีพจากการดำเนินกิจกรรม  ดังนี้

1) การผลิต  ได้แก่  การพัฒนาปัจจัยการผลิตเฉพาะพื้นที่ (พันธุ์พืชปุ๋ยชีวภัณฑ์)  และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการในพื้นที่

2) สารสกัด  ได้แก่  การพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรม มาใช้ในการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ

เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ วว. ที่นำไปขับเคลื่อนการเกษตรของจังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย

การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตชะลอความสูงของต้นกล้วยโดยใช้ฮอร์โมน(กล้วยต้นเตี้ย)พร้อมจัดทำแปลงสาธิตในแปลงเกษตรกร สนับสนุนสารควบคุมการเจริญเติบโต “พาโคลบิวทราโซล” และปุ๋ยเพื่อใช้กับแปลงทดลองถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างนวัตกรรมการผลิตกล้วยต้นเตี้ยเพื่อลดการหักล้มจากพายุ   ทำให้ต้นเตี้ย ลำต้นแข็งแรง สามารถต้านพายุฤดูร้อนได้ 100%  ปลูกชิดได้มากขึ้น  ให้ผลผลิตเร็ว มีต้นทุน 1 บาทต่อต้น ลดความเสียหายได้ดี  ช่วยลดการสูญเสียจากลม และการให้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชยังส่งผลดีต่อการเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพ

การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตเพิ่มขนาดผลกล้วย(กล้วยผลโต) จัดทำแปลงทดลองในแปลงเกษตรกร และสนับสนุนสารควบคุมการเจริญเติบโต “จิบเบอเรลลิน”เทคโนโลยีการผลิตกล้วยผลโตโดยใช้ฮอร์โมน ทำให้กล้วยมีขนาดผลเพิ่มขึ้นช่วยเพิ่มขนาด น้ำหนักของผลกล้วยหอมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 จำหน่ายได้ในราคาสูงขึ้น

การปลูกเลี้ยงกล้วยปลอดโรคได้แก่ กล้วยหอมทองกล้วยน้ำว้ายักษ์  และกล้วยหักมุกโดยถ่ายทอดการผลิตต้นกล้าและมอบกล้วยปลอดโรคให้เกษตรกรเพื่อใช้เป็นต้นพันธุ์ในการปลูก

          ปุ๋ยเสริมซีลีเนียมในกล้วยซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการผลิตอาหารเชิงหน้าที่ด้วยการเพิ่มคุณค่าอาหารในผลผลิตการเกษตรผ่านทางการให้ปุ๋ย เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้ง่ายแก่ผู้บริโภคสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต

          สารชีวภัณฑ์จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการผลิตและขยายชีวภัณฑ์รูปแบบเชื้อเหลวด้วยถังหมักอย่างง่ายโมเดล วว. และได้มอบถังขยายชีวภัณฑ์ วว. จำนวน 6 ถัง ให้แก่กลุ่มเกษตรกรเพื่อนำไปผลิตชีวภัณฑ์ในระบบกระบวนการปลูกกลวยหอมทอง ข้าวและผัก  ในพื้นที่ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลบึงทองหลาง /ตำบลบึงสนั่น /ตำบลหน้าไม้วิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองปทุมรัตน์วิสาหกิจชุมชนเพราะรักกสิกรรม   และกลุ่มแปลงใหญ่ผักร่วมใจบางเตย

พัฒนาและยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสารสกัดข้าวหอมปทุมธานี กล้วยหอมปทุม และบัวหลวงโดยนำเปลือกกล้วยหอมทอง กลีบบัวหลวงและข้าวหอมปทุมธานี 1 งอก  มาเป็นวัตถุดิบในการสกัดสารและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ในกลุ่มของเซรั่ม ครีม โลชั่น สครับ สบู่ แชมพู และโทนเนอร์ พร้อมทั้งออกแบบฉลากสินค้าและวัสดุบรรจุของผลิตภัณฑ์ดำเนินการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 21 ผลิตภัณฑ์และผลิตสินค้าสำเร็จรูปพร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์

          ผลการดำเนินงานของ วว. ณ จังหวัดปทุมธานี  สำเร็จเป็นรูปธรรม ดังนี้ 

          1) ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ จำนวน 1,813 รายช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร

          2) พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีนวัตกรรมจากวัตถุดิบท้องถิ่นได้จำนวน 21 ผลิตภัณฑ์

3) ก่อให้เกิดการลงทุนของเกษตรกร 13.6665 ล้านบาทเกิดการลงทุนของผู้ประกอบการในผลิตภัณฑ์ใหม่5.8658 ล้านบาท

            4) สร้างรายได้เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น133.9421 ล้านบาท

            5) กระตุ้นการบริโภคของประชาชนทั้งภายในและนอกพื้นที่133.9421 ล้านบาท

          6) เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ 20.7858 ล้านบาท  ผลกระทบทางสังคม 0.3001 ล้านบาท

ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุปช่วงท้ายว่า  การถ่ายทอดเทคโนโลยีของ วว. สู่จังหวัดปทุมธานีดังกล่าว ก่อให้เกิดการลงทุนของเกษตรกร และผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูป ช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชนจากสินค้าเกษตรคุณภาพดี และผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมจากวัตถุดิบท้องถิ่น ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เข้มแข็งและยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม