In Bangkok

กทม.ร่วมสำรวจช่วยเหลือเด็ก-ครอบครัว แก้เด็กเช็ดกระจกและขายของริมถนน



กรุงเทพฯ-นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาเด็กเช็ดกระจกและเด็กขายของริมถนน รวมทั้งขอทานต่างด้าวในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สพส.ได้แก้ไขปัญหาเด็กที่ประกอบอาชีพเช็ดกระจกบริเวณสี่แยกต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกำหนดแผนสำรวจเด็กที่ประกอบอาชีพดังกล่าวบริเวณสี่แยก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การสำรวจปัญหา เยี่ยมบ้านของเด็กและครอบครัว สนับสนุนช่วยเหลือในด้านที่จำเป็น ตามระเบียบ กทม.ว่าด้วยการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 หรือการสนับสนุนจากกองทุนคุ้มครองเด็ก ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ตลอดจนวางแผนช่วยเหลือระยะยาวในด้านอาชีพตามความสนใจ และจัดหาข้อมูลแหล่งงาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ รวมทั้งให้ข้อมูลแก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุตรหลานที่อาจเข้าข่ายการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522

ขณะเดียวกันได้แก้ไขปัญหาเด็กที่มีพฤติกรรมขายสินค้า หรือบริการที่มีความเสี่ยงบริเวณสี่แยก โดยในปี 2565-2566 นักสังคมสงเคราะห์ ของ สพส.ได้ลงพื้นที่สำรวจเด็กขายของและเช็ดกระจกบนทางสาธารณะ ได้แก่ ถนนบรรทัดทอง เขตปทุมวัน หน้าห้างซีคอนบางแค เขตภาษีเจริญ และได้กำหนดแผนการลงพื้นที่บริเวณแยกอโศกมนตรี เขตคลองเตย โดยประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมของสำนักงานเขต กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 จัดทีมเฉพาะกิจช่วยเหลือเด็กและครอบครัว โดยใช้กระบวนการสหวิชาชีพแก้ไขปัญหารายครอบครัว เพื่อไม่ให้ครอบครัวนำเด็กมาประกอบอาชีพขายพวงมาลัย หรือเช็ดกระจกอีก รวมถึงนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาและวางแผนรายครอบครัวในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ เช่น การฝึกอาชีพ การแนะนำช่องทางประกอบอาชีพ การจัดหาพื้นที่ตลาดนัดเพื่อขายสินค้า นอกจากนั้น ได้ประสานสำนักงานเขตจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกตรวจตราพื้นที่สม่ำเสมอ เพื่อลดจำนวนกลุ่มเด็ก หรือกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพเดินเร่ขายของ หรือเดินเช็ดกระจกรถบริเวณสี่แยก

ส่วนการแก้ไขปัญหาขอทาน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พม. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) สำนักเทศกิจ สำนักงานเขต 50 เขต โดยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดระเบียบในบริเวณที่มีผู้ทำการขอทาน เช่น ย่านธุรกิจ ใกล้ห้างสรรพสินค้า ตลาด แหล่งชุมชน และบริเวณสถานีรถไฟฟ้า เพื่อสำรวจ คัดกรอง จัดทำประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำ ทำความเข้าใจกับผู้ทำการขอทาน โดยอำนาจหน้าที่ดำเนินการด้านคนขอทานเป็นของ พส. เจ้าพนักงานท้องถิ่นของสำนักงานเขตพื้นที่และเจ้าหน้าที่เทศกิจ หากพบผู้ทำการขอทานต่างด้าวจะนำส่งสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ในพื้นที่ เพื่อสอบสวน บันทึกการจับกุม เปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 และส่งไปยัง สตม.เพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทางต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.66 ได้ประชุมหารือร่วมกับ พม.เพื่อดำเนินการด้านผู้ทำการขอทาน โดยที่ประชุมมีมติให้ประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้ประชาชนงดการให้เงินแก่ผู้ทำการขอทานและร่วมจัดกิจกรรมเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และประชาชนทั่วไปบริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT บริเวณสวนสาธารณะ โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เป็นภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เป็นต้น