In News
ถกบอร์ดกพอ.จี้สรุปสร้าง2เมกะโปรเจ็กต์ ดันลงเข็มอู่ตะเภาต้นปี67/รถไฟฯยังมืดมิด
กรุงเทพฯ-รองนายกฯ ภูมิธรรม ประชุมบอร์ด กพอ. เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศสิทธิประโยชน์ฯ เตรียมเสนอ ครม. พร้อมประกาศศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ เป็นเขตส่งเสริมฯ เดินหน้าแผนก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาฯ คาดเริ่มก่อสร้าง ต้นปี 2567
วันนี้ (26 ธันวาคม 2566) เวลา 14.00 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2566 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นกรรมการและเลขานุการการประชุมฯ ทั้งนี้ กพอ. ได้พิจารณาเห็นชอบ และรับทราบ การดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในเรื่องสำคัญ ๆ ดังนี้
1. ที่ประชุม กพอ. ได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กพอ. เรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... เพื่อนำเสนอต่อ ครม. ต่อไป เพื่อประกาศใช้และมีผลบังคับตั้งแต่มกราคม 2567 ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ โดยใช้รูปแบบการเจรจาสิทธิประโยชน์กับนักลงทุน โดยสาระสำคัญของร่างประกาศ ฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 7 หมวด ได้แก่ หมวด 1 บททั่วไป กำหนดให้มีการให้บริการภาครัฐเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์แบบเบ็ดเสร็จ และการกำกับดูแลนักลงทุน หมวด 2 กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตประกอบกิจการ หมวด 3 กำหนดกระบวนการเจรจาและทำความตกลงเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ และกำหนดให้มีคณะกรรมการเจรจาสิทธิประโยชน์ หมวด 4 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับสิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด หมวด 5 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับสิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร และการยื่นขอรับ EEC Visa และ EEC work permit หมวด 6 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับสิทธิในการได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร หมวด 7 กำหนดกระบวนการเกี่ยวกับการได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
2. การพัฒนาศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ที่ประชุม กพอ. ได้เห็นชอบการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ โดยประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษประเภทเพื่อกิจการพิเศษ บนพื้นที่พัฒนาระยะที่ 1 ประมาณ 5,795 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 14,619 ไร่ ในตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มูลค่าการลงทุนประมาณ 534,985 ล้านบาท เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพครบวงจร การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ดิจิทัล การบินและโลจิสติกส์ การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ ศูนย์สำนักงานใหญ่ภูมิภาคและศูนย์ราชการสำคัญ ศูนย์บริการทางการเงิน ศูนย์ธุรกิจเฉพาะด้านและบริการอื่นๆ กิจการพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย โดยมีแนวคิดการพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่ผสมผสานระหว่าง ธรรมชาติ วิถีชีวิต นวัตกรรม และการออกแบบที่เน้นความยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสอดคล้องกับอนาคต
โดยศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ จะสามารถรองรับคนอยู่อาศัยได้กว่า 350,000 คน คาดว่าจะเกิดการสร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง สร้างแรงงานทักษะสูง มีรายได้สูงขึ้น เกิดมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท มีกลุ่ม Startup ในธุรกิจและบริการล้ำสมัย ประมาณ 150 – 300 กิจการ สามารถกระตุ้นการขยายตัวของ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี และเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 ของโลกภายในปี 2580
3. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ประชุม กพอ. รับทราบ การประกาศจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 โดยวิธีประกวดราคานานาชาติ ของกองทัพเรือ และได้เร่งรัดให้ สกพอ. รฟท. และเอกชนคู่สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินและเอกชนคู่สัญญาโครงการสนามบินอู่ตะเภาสรุปแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เงื่อนไขบังคับก่อนการเริ่มต้นโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ ทั้งหมดครบสมบูรณ์ตามที่กำหนดในสัญญา เพื่อให้โครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ เริ่มต้นการก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2567 นอกจากนี้ กพอ. ได้เห็นชอบให้ สกพอ. ปฏิบัติตามรายงาน EHIA ของโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 รวมถึงงานก่อสร้างอื่น ๆ ภายในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา อย่างเคร่งครัด โดยให้ สกพอ. ขอรับจัดสรรงบประมาณปี 68 จากสำนักงบประมาณ เพื่อจัดหาบุคคลที่ 3 (Third Party) เป็นผู้ดำเนินการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับเหมาให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้รายงาน EHIA อาทิ เสียง อากาศ การสั่นสะเทือน การจัดการของเสีย เป็นต้น