In Bangkok

กทม.ลงคุมเข้ม! ค่าฝุ่นPM2.5หม้อไอน้ำ โรงงานผลิตท่อยางย่านจอมทอง



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 หม้อไอน้ำ (Boiler) โรงงานผลิตท่อยางย่านจอมทอง ชมคัดแยกขยะชุมชนวุฒากาศ 46 (อพยพ 2) ตั้งเป้ายกเลิกผู้ค้าสถานีรถไฟฟ้า BTS วุฒากาศ 

(26 ธ.ค. 66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตจอมทอง ประกอบด้วย 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 กิจการรีดยางและทำท่อยาง ซอยเลิศพัฒนาใต้ (จอมทอง 13) ถนนจอมทอง ซึ่งประกอบกิจการผลิตท่อยางและรีดยาง มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) โดยใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง มีกระบวนการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทโรงงานที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) 8 แห่ง ประเภทการผลิต สะสม แบ่งบรรจุธูป (แบ่งบรรจุ ไม่มีการผลิต) 1 แห่ง ประเภทการต่อ ประกอบ เคาะ ปะผุ พ่นสี หรือพ่นสารกันสนิมยานยนต์ 26 แห่ง ประเภทการหลอม หรือหล่อโลหะทุกชนิด 15 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 2 แห่ง ประเภทการเลื่อย ซอย ไส ไม้ 6 แห่ง ประเภทการผลิต พ่น ทาสารเคลือบเงา หรือสีแต่งสิ่งของเครื่องใช้ หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ หวาย ชานอ้อย 33 แห่ง ประเภทการสะสมถ่าน 2 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนวุฒากาศ 46 (อพยพ 2) พื้นที่ 17 ไร่ ประชากร 515 คน บ้านเรือน 125 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2563 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แต่ละครัวเรือนคัดแยกขยะรีไซเคิลที่ขายได้ ประเภทขวดพลาสติก แก้ว กล่องกระดาษ กระป๋องเครื่องดื่ม นำไปขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว 2.ขยะอินทรีย์ แต่ละครัวเรือนคัดแยกขยะเศษอาหาร ตั้งวางไว้หน้าบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงมารับไปเลี้ยงสัตว์ทุกเย็น 3.ขยะทั่วไป แต่ละครัวเรือนคัดแยกขยะพลาสติกออกจากขยะทั่วไป และนำส่วนที่เหลือส่งเขตฯ นำไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม 4.ขยะอันตราย ชุมชนกำหนดจุดตั้งถังขยะอันตรายและเก็บรวบรวมให้เขตฯ เข้ามาจัดเก็บเดือนละ 2 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 9,400 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 4,200 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน ส่วนขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ชุมชนบริหารจัดการเอง ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตจอมทอง ได้ร่วมกันปลูกต้นยอและต้นแค บริเวณริมทางเดินในชุมชนดังกล่าว เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง 

ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS วุฒากาศ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 12 แห่ง รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 174 ราย ดังนี้ 1.ซอยจอมทอง 16 ถึงสุดซอยจอมทอง 16 ผู้ค้า 19 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 2.ซอยจอมทอง 16 ถึงด้านซ้ายหลังธนาคารกสิกรไทย ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 3.ซอยจอมทอง 14 ถึงหลังตลาด ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 4.ซอยจอมทอง 12 ถึงสุดซอยจอมทอง 12 ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 5.สถานีรถไฟฟ้า BTS วุฒากาศ ผู้ค้า 18 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-21.00 น. 6.ถนนพระรามที่ 2 ซอย 28 (วัจนะ) ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. 7.ถนนพระรามที่ 2 ซอย 28 (หลังโรงพยาบาลบางปะกอก 9) ผู้ค้า 32 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-15.00 น. 8.ซอยสุขสวัสดิ์ 14 ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 9.ซอยเอกชัย 43 (หน้ามัธยมโรงเรียนวัดสิงห์) ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. 10.ถนนพุทธบูชา ซอย 7 ถึงซอย 23 ผู้ค้า 9 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-12.00 น. 11.ถนนพระราม 2 ซอย 33 หน้าวัดยายร่ม ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. และ 12.ถนนพระราม 2 ซอย 3 ถึงซอย 45 ผู้ค้า 3 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-13.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกหรือยุบรวมจุดทำการค้า จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีรถไฟฟ้า BTS วุฒากาศ ผู้ค้า 18 ราย 2.หน้าโรงพยาบาลบางมด ผู้ค้า 3 ราย ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center บริเวณตลาดพิบูลย์ 6 ถนนเอกชัย สามารถรองรับผู้ค้าได้ 30 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด 

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้าหรืออุปกรณ์ทำการค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้าหรือเกินแนวเส้นที่กำหนด ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณาหาแนวทางยกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ กำหนด หรือจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ประชาชนและผู้ค้าสามารถใช้พื้นที่ทางเท้าร่วมกันอย่างสะดวกและปลอดภัย 

ในการนี้มี นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตจอมทอง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล