In Bangkok

กทม.รวบรวมข้อมูลจัดประเภทช่วยเหลือ ผู้ลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบในพื้นที่



กรุงเทพฯ-นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและการจัดตลาดนัดแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของ กทม.ตามนโยบายรัฐบาลว่า กทม.โดยสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตได้อำนวยความสะดวกประชาชนในการรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.66 หลังจากนี้สำนักงานเขตจะรวบรวมข้อมูลจัดประเภทความช่วยเหลือตามความต้องการ เช่น ขอให้ช่วยเจรจา ต้องการเงินกู้ หรือต้องการอาชีพ วางแผนช่วยเหลือ จัดตั้งทีมงาน กำหนดตารางนัดหมายเจรจา โดยมีตัวชี้วัดการดำเนินการ (KPI) เมื่อแก้ไขปัญหาด้านใดเสร็จให้รายงานผลตามระบบ หากเจรจาไม่สำเร็จให้นำส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ การแก้ไขหนี้นอกระบบมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ สถาบันการเงิน โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. หรือศูนย์ฝึกอาชีพในพื้นที่เขต

สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของ กทม.ขณะนี้ได้สรุปประเด็นปัญหาการเป็นหนี้นอกระบบ โดยพบว่า ประเภทการกู้ยืมที่มากที่สุดเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การลงทุน ค่าเล่าเรียน และสร้างบ้าน ข้อมูลปัจจุบัน ณ วันที่ 25 ธ.ค.66 มีผู้ยื่นคำร้องขอให้แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จำนวน 7,077 ราย มีจำนวนเจ้าหนี้ 6,073 ราย และมียอดหนี้ 593,790,813.60 บาท โดยเขตที่มีลูกหนี้มากที่สุดคือ เขตคลองสามวา จำนวน 362 ราย รองลงมาคือ เขตสายไหม จำนวน 345 ราย และเขตลาดกระบัง จำนวน 342 ราย

นอกจากนั้น กทม.ยังได้กำหนดแผนเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ประสานงานการจัดตลาดนัดแก้หนี้นอกระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้สำนักงานเขต กลุ่มกรุงเทพกลาง กลุ่มกรุงธนเหนือ และกลุ่มกรุงธนใต้ ณ ศาลาว่าการ กทม.1 (เสาชิงช้า) และสำนักงานเขตกลุ่มกรุงเทพเหนือ กลุ่มกรุงเทพตะวันออก และกลุ่มกรุงเทพกลาง ณ ศาลาว่าการ กทม.2 (ดินแดง) เพื่อให้ฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ รวมถึงธนาคาร ได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่อไปในระยะยาว ขณะเดียวกัน สพส.ได้จัดอบรมให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานโครงการรู้ใช้รู้เก็บคนกรุงเทพฯ ชีวิตมั่นคง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัวและแก้ไขปัญหาหนี้สินเพิ่มพูนความรู้และประสิทธิภาพให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัวและแก้ไขปัญหาหนี้สิน ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการรายได้ของตนเองและครอบครัว ตลอดจนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน