Travel Sport & Soft Power
กาฬสินธุ์เปิดไดโนพาเลาะหนุนท่องเที่ยว อุทยานธรณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
กาฬสินธุ์-พิพิธภัณฑ์สิรินธร สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 กรมทรัพยากรธรณีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จัดกิจกรรมไดโนพาเลาะ ครั้งที่ 5 “Unseen Kalasin Geopark” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางธรณีวิทยา ซากดึกดำบรรพ์สร้างการรับรู้ และส่งเสริมการท่องเที่ยวอุทยานธรณีกาฬสินธุ์ ในช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
วันที่ 27 ธันวาคม 2566 นายธนภัทร ณ ระนอง รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ร่วมกันพิธีเปิดงานไดโนพาเลาะ ครั้งที่ 5 “Unseen Kalasin Geopark” ซึ่งพิพิธภัณฑ์สิรินธร สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 กรมทรัพยากรธรณีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจัดขึ้น เพื่อเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางธรณีวิทยา ซากดึกดำบรรพ์สร้างการรับรู้ และส่งเสริมการท่องเที่ยวอุทยานธรณีกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะในช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
โดยมีนางสาวดรุณี สายสุทธิชัย ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 พร้อมด้วยนายทินกร ทาทอง ผู้ตรวจราชการกรมทรัพยากรธรณี นางวิไลพร นิพัฒน์ รองนายกอบจ.กาฬสินธุ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วชิยุทธ จันทะรี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นายสิทธิชัย อินทุประภา รองผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นายคมสัน นิลยองตระกูล ท่องเที่ยวและกีฬา จ.กาฬสินธุ์ ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ ผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์สิรินธร นางนฤมล สิงห์เงา ปลัดเทศบาลตำบลโนนบุรี นางสาวชมพิศ ปิ่นเมือง ประธานชมรมท่องเที่ยวอำเภอสหัสขันธ์ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้แทนจากพื้นที่อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ร่วมงานจำนวนมาก
นางสาวดรุณี สายสุทธิชัย ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 กล่าวว่า อุทยานธรณีกาฬสินธุ์มีขอบเขต ครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอสหัสขันธ์ คำม่วง สมเด็จ ห้วยผึ้ง นาคู กุฉินารายณ์ และ อำเภอเขาวง ซึ่งทั้ง 7 อำเภอ ต่างมีความโดดเด่น ด้านธรณีวิทยา ด้านธรรมชาติวิทยา และ ทางด้านวัฒนธรรม ด้านธรณีวิทยา ทั้งนี้จังหวัดกาฬสินธุ์ มีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญ โดยเฉพาะที่ภูกุ้มข้าว ภูน้อย ภูแฝก ภูน้ำจั้น
สำหรับด้านธรรมชาติวิทยา มีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็น UNSEEN อาทิ ผาแดงบนยอดเขาภูสิงห์ น้ำตกผาลี่แกรนแคนยอนแห่งอีสาน ลานหินปุ่มถ้ำฝ่ามือแดงบนยอดภูผาผึ้ง และทางด้านวัฒนธรรม มีงานประเพณีประจำปี ภูมิปัญญา ที่แสดงออกถึงความเป็นชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม เช่น งานบุญบั้งไฟตะไลล้านบ้านกุดหว้า ของอำเภอกุฉินารายณ์ เทศกาลภูไทนานาชาติ อำเภอเขาวง เทศกาลตักบาตรเทโวโรหณะ อำเภอสหัสขันธ์ งานมหัศจรรย์ถิ่นผู้ไทยราชินีไหมแพรวา พุทธาหวานบ้านโพน อำเภอคำม่วง
ด้านนายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายขับเคลื่อน พัฒนาอุทยานธรณีประเทศไทย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมยกระดับอุทยานธรณีประเทศไทยสู่สากล UNESCO Geopark พร้อมสนับสนุน ในเรื่องการให้ชุดข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการทางด้านธรณีวิทยา การเข้าไปสำรวจพื้นที่ศักยภาพ เพื่อค้นหาความโดดเด่น มรดกธรณี ทั้ง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ทางด้านธรณีวิทยา ทางด้านธรรมชาติ หรือแม้แต่ทางด้านวัฒนธรรม ตลอดจนการสร้างการรับรู้ ให้เกิดความเข้าใจในเรื่องอุทยานธรณี แก่ประชาชนในพื้นที่ 7 อำเภอ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมกันของทุกภาคส่วน เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อน ยกระดับให้อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ ก้าวสู่ระดับประเทศ และ สู่ระดับโลก หรือ Gobal Unesco ต่อไป
นายธนภัทร ณ ระนอง รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับงานไดโนพาเลาะ ครั้งที่ 5 Unseen Kalasin Geopark ครั้งนี้มีกิจกรรมและนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการสร้างการรับรู้อุทยานธรณี, นิทรรศการแหล่งซากดึกดำบรรพ์สำคัญ, นิทรรศการแหล่งมรดกธรณี, นิทรรศการภาพถ่าย “Unseen Kalasin”, นิทรรศการพิพิธภัณฑ์ในสังกัดกรมทรัพยากรธรณี, กิจกรรม workshop แสดงงานฝีมือ จากชุมชนจีโอพาร์ค, การแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นถิ่น, บูธจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ของดีของเด่น 7 อำเภออุทยานธรณีกาฬสินธุ์, กิจกรรมรถรางพาเลาะ unseen สหัสขันธ์, กิจกรรมเลาะเส้นทางท่องเที่ยวดึกดำบรรพ์ ภูกุ้มข้าว ภูน้อย ภูแฝก และภูน้ำจั้น
อย่างไรก็ตามงานไดโนพาเลาะได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-31 ธันวาคม 2566 เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์สิรินธร จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมฟรี ในวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนด้วย