In Bangkok
ชัชชาติเร่งเดินหน้า24นโยบาด้านสุขภาพ แก้โรคเมือง'โง่ จน เจ็บ'
กรุงเทพฯ-(28 ธ.ค.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้แจ้งที่ประชุมให้ทราบถึงทิศทางและนโยบายกทม.ในการพัฒนาสุขภาวะเขตเมืองว่า ในปีที่ 2 นี้ กทม.จะขับเคลื่อน 24 นโยบายด้านสาธารณสุข ได้แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มการพัฒนา คือ
1. การดำเนินงานบริการให้เข้าถึงง่ายทั่วถึงสู่เส้นเลือดฝอย
2. เทคโนโลยีสุขภาพ
3. ภาวะฉุกเฉิน
4. โรคคนเมือง และ
5. ส่งเสริมสุขภาพคนเมือง
@ชัชชาติปลื้ม Health Zoning ขยายการให้บริการสร้างสังคมสุขภาพดี
การขยาย Health Zoning ยกระดับความร่วมมือและพัฒนาระบบบริการอย่างมีมาตรฐานร่วมกัน ผลการดำเนินงานที่ผ่านสามารถตอบสนองความต้องการของภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเส้นเลือดฝอยตั้งแต่การให้บริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และการดูแลต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ในการพัฒนาเมืองที่จำเป็นต้องผนวกประเด็นของระบบสุขภาพชุมชน/ชุมชนเมือง (urban health) เข้าไปด้วย เช่น การเป็นเมืองน่าอยู่ที่คงรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่ไว้ การมีพื้นที่สาธารณะรองรับวิถีชีวิตของคนทุกกลุ่ม ซึ่งความท้าทายหลักของการ เปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมือง คือ การตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชนทุกกลุ่ม การออกแบบระบบสุขภาพให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสของความเป็นเมือง เช่น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การกระจุกตัวของทรัพยากรด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานองค์กรทั้งภายใน และภายนอกพื้นที่
แนวโน้มสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นได้ส่งผลให้เกิดปัญหากับประชาชนและระบบสุขภาพที่ล้วนเป็นไปในทิศทางที่ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมเพิ่มขึ้น ดังนั้นการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะมีผลมากในการกำหนดทิศทางโดยเฉพาะการมีธรรมนูญสุขภาพกทม. ที่เป็นกรอบทิศทางและแนวปฏิบัติในการนำไปสู่สุขภาวะของกทม. ร่วมกันกับทุกภาคส่วน
@ผลการดำเนินการ 4 ปีสมัชชาสุขภาพ
จากกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมพื้นที่กรุงเทพฯ กทม.ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 4 เกิดมติสมัชชาสุขภาพกทม. 6 มิติ ได้แก่
1. ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร
2. การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร
3. การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน
4. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับภาวะวิกฤติ
5. พื้นที่เศรษฐกิจ ปลอดภัย ภายใต้ความหลากหลาย
6. สุขภาพดีทุกช่วงวัยด้วยระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เน้นคุ้มค่า
ดังนั้นเพื่อรวบรวมผลการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ที่ประชุมจึงได้พิจารณาเห็นชอบให้มีการดำเนินการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2567 เป็นโอกาสในการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวนยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนกลไกสุขภาวะเขตเมือง ผ่านกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งตามนโยบายกรุงเทพมหานคร ให้ผู้คนที่หลากหลายสามารถเข้าร่วมรับทราบ แลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อน เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อน 3 คณะ ได้แก่
1. คณะทำงานวิชาการ
2. คณะทำงานเตรียมความพร้อม
3. คณะทำงานติดตามและประเมินผล
ทั้งนี้รูปแบบ (Theme) การจัดงานจะมีการกำหนดให้ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้หัวหน้าคณะทำงานแต่ละด้านดำเนินการหารือเพื่อลงรายละเอียดกำหนดหนดขอบเขตการทำงานอย่างชัดเจนต่อไป
โดยก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯชัชชาติ ได้เคยกล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นรากฐานของปัญหาเมือง จะต้องเริ่มต้นจากการพัฒนา การศึกษาและการสาธารณสุข เพื่อแก้ไขโรคของเมืองอย่าง โง่ จน เจ็บ ได้อย่างยั่งยืน