In News

นายกฯครม.ผ่านการขจัดการเลือกปฏิบัติ ต่อสตรีฯสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค



กรุงเทพฯ-​นายกฯ เผย ครม.เห็นชอบรายงานผลการดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีฯ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในด้านสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเท่าเทียม

วันนี้ (2 ม.ค. 67) เวลา 11.00 น. ณ บริเวณหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า  เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประชุม ครม. เห็นชอบรายงานผลการดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุง และพัฒนาความก้าวหน้าอย่างเต็มที่ของสตรี รวมถึงการคุ้มครองเด็ก ส่งเสริมสิทธิด้านการศึกษาต่าง ๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในด้านสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเท่าเทียม ส่วนการท่องเที่ยวและการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า  มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต และภาษีอากรต่าง ๆ เช่น ภาษีสุราพื้นบ้านให้มีการปรับภาษีเป็น 0 %  ทั้งนี้ ให้ทางกรมสรรพสามิตได้มีการทบทวนในเรื่องของกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวกับสุราพื้นบ้าน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ฉบับที่ 8  โดยพม. ได้จัดทำรายงานฯ ซึ่งครอบคลุมผลการดำเนินงานในปี 2554-2566 ด้วยการรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ จากนั้นได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เพื่อนำเสนอข้อมูลและร่วมกันพิจารณา รวมถึงให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำเป็น (ร่าง) รายงานฯ และแจ้งเวียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความถูกต้องและให้ความเห็นชอบต่อ (ร่าง) รายงานฯ ในขั้นสุดท้าย เพื่อให้ได้รายงานฯ (ฉบับสมบูรณ์) ภายหลังจากหน่วยงานต่างๆ ให้ความเห็นชอบต่อรายงานฯ (ฉบับสมบูรณ์) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยรายงาน ฯ ฉบับที่ 8 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไทยมีมาตรการและกลไกเพื่อส่งเสริมสิทธิและสถานภาพสตรี เพื่อสร้างความเท่าเทียมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สตรีทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงและใช้สิทธิมนุษยชนของตนเองได้ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

2. ด้านกฎหมาย มีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น

- ความก้าวหน้าในการจัดทำกฎหมายเพื่อปรับปรุงกฎหมายที่มีนัยยะเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ
- การดำเนินการวิเคราะห์เนื้อหากฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทางเพศระหว่างหญิงชาย และผู้ที่แสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิด ซึ่งพบว่ามีกฎหมายที่มีเนื้อหาบางส่วนมีนัยยะในการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ จำนวน 3 ฉบับ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508

3. รัฐบาลไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทางกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติ ประกอบกับองค์กรภาคเอกชน องค์กรชุมชน และภาคประชาสังคมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญร่วมกับภาครัฐในการปกป้องผลประโยชน์ของสตรีอย่างเข้มแข็ง โดยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการส่งเสริมสิทธิของคนทุกกลุ่มในสังคม ตลอดจนเร่งรัดสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนในประเทศอย่างเท่าเทียมกัน เกิดการยอมรับในความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข

4. ประโยชน์และผลกระทบจากการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ ได้แก่ (1) ระดับประเทศ ประชาคมโลกเห็นถึงความจริงจังและความก้าวหน้าของประเทศไทยในการส่งเสริมสถานภาพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรี ความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งการกำหนดมาตรการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศไทยในเวทีระหว่างระเทศ (2) ระดับสังคม ได้รับทราบถึงการดำเนินการส่งเสริมสถานภาพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งการกำหนดมาตรการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และ (3) ระดับประชาชน ประชาชนเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และประชาชนมีหลักประกันสิทธิและเสรืภาพของตนซึ่งทัดเทียมกับมาตรฐานสากล ตลอดจนเกิดความเสมอภาคต่อประชาชนทุกเพศ มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและมีสันติในการดำรงชีวิตบนพื้นฐานของการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ทั้งนี้ มอบหมายให้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการเสนอรายงานฯ ฉบับภาษาอังกฤษ ต่อคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ ซึ่งกำหนดส่งรายงานภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 และขณะนี้ได้พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ซึ่ง พม. ได้ประสาน กต. เพื่อแจ้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทราบว่า ประเทศไทยจะเร่งดำเนินการให้สามารถจัดส่งรายงานฯ ได้ภายหลังที่ ครม. มีมติเห็นชอบในวันที่ 2 มกราคม 2567