In Bangkok
เร่งรัดการก่อสร้างพัฒนาคูน้ำริมวิภาวดีฯ ทำถนนสวยเพิ่มพื้นที่สีเขียวแก้น้ำเสีย
กรุงเทพฯ-เร่งรัดการก่อสร้างพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต สร้างถนนสวย เพิ่มพื้นที่สีเขียว แก้ปัญหาน้ำเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
(2 ม.ค.67) เวลา 14.00 น. พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมคณะกรรมการติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานโครงการก่อสร้างสายพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต โดยมีนายมนตรี เดชาสกุลสม
รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมราชรถ 1 กระทรวงคมนาคม เขตพระนคร
"ถนนวิภาวดีเป็นถนนที่มีผู้คนใช้สัญจรมากที่สุดในกรุงเทพฯ อีกทั้งมีหน่วยงาน องค์กร ผู้ประกอบการ อยู่จำนวนมากทั้ง 2 ฝั่งถนน หากเกิดความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ออกแบบ ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามในทุกมิติ จะเป็นถนนอีกเส้นหนึ่งที่มีอัตลักษณ์อย่างยั่งยืน" ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าว
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายด้าน เพื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โครงการฯนี้ นอกจากจะสร้างความสวยงามให้กับถนนวิภาวดีแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วม การระบายน้ำ ทางเดินเท้า สถานที่ออกกำลังกาย ทางจักรยาน ไฟฟ้าแสงสว่าง เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความสะดวก ปลอดภัย และสวยงาม ให้เมืองน่าอยู่ยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนกรุงที่ได้ประโยชน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวต่างชาติที่มาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ อีกด้วย อีกทั้งยังสอดคล้องกับโครงการถนนสวย 50 เขต ที่กทม.ดำเนินการอยู่ อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญคือการฟื้นฟูสภาพน้ำในคลองริมถนนวิภาวดี ซึ่งสอดคล้องกับโครงการฟื้นฟูสภาพคลองต่างๆ ของกทม. อาทิ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนเมือง เพิ่มคุณภาพชีวิตคนริมคลองในทุกมิติ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการสรุปผลความคืบหน้าในการปรับภูมิทัศน์เกาะกลางถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทาง 24 กิโลเมตร ซึ่งประกอบด้วย 1. การปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่ว่าง 3 ตอม่อ ได้แก่ ตอม่อ 34 และ ตอม่อ 27-28 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 2. การกำชับกำกับดูแลเอกชนผู้รับจ้างดูแลต้นไม้ถนนวิภาวดีรังสิตปีงบประมาณ 2566 ให้ปลูกซ่อมทดแทนต้นไม้ที่ตายในระหว่างสัญญาจ้างเหมาดูแลบำรุงรักษาถนนวิภาวดีรังสิต ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดหาต้นไม้และปลูกซ่อม ซึ่งตามสัญญาต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนธ.ค.66 3. สำนักสิ่งแวดล้อมจะขอจัดสรรงบประมาณปี 2567 ดำเนินการจัดซื้อต้นไม้ปลูกเสริมเกาะกลางและเกาะคู่ขนานถนนวิภาวดีรังสิตบริเวณพื้นที่ว่าง (ไม่รวมตอม่อที่กรมทางหลวงปรับปรุงแบริเออร์ ที่มีการรื้อย้ำยต้นไม้ออก ระหว่างตอม่อที่ 699 -778 )
4. ประสาน We!park และภาคีเครือข่ายในการปรับปรุงภูมิทัศน์สร้างพื้นที่สีเขียวริมทางเดินให้เชื่อมต่อถึงกัน 5. คัดเลือกพันธุ์ไม้ที่มีความเหมาะสมในการปลูก เช่น ต้นไม้ที่ปลูกในกระบะ คือ ต้นทองอุไร ซึ่งเป็นไม้พุ่มขนาดกลางที่ออกดอกสีเหลืองตลอดปีและมีคุณสมบัติดักจับฝุ่นได้ดี และปลูกต้นลีกวนยูซึ่งเป็นไม้เลื้อยคลุมด้านล่างต้นทองอุไรเพื่อลดความแข็งของกระบะและเพิ่มความสวยงาม นอกจากนี้ต้นทองอุไรยังเป็นต้นไม้ที่ทนในทุกสภาพและดูแลรักษาได้ง่าย โดยจะมีการพิจารณาพื้นที่นำร่องเพื่อแสดงผลงานและความสำเร็จของความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนให้เห็นในเชิงประจักษ์ เพื่อความร่วมมือในอนาคตสำหรับโครงการอื่นต่อไป ทั้งนี้จะมีการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อให้ทราบความคืบหน้าที่ชัดเจนเพื่อผลักดันโครงการฯ ให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด และมีการรายงานผลความคืบหน้าในการประชุมทุกครั้ง
นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาการปรับปรุงรูปแบบการก่อสร้างสะพานทางเชื่อมคูน้ำวิภาวดี ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมติดตามเร่งรัดการดำเนินงานโครงการก่อสร้างสายพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต โดยมีพลอากาศเอก สถิตพงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ณ ห้องประชุมสำนักงานทางหลวงที่ 13 มอบหมายให้กรมทางหลวงหารือในรายละเอียดร่วมกับบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ในการพิจารณานำ Fast - Setting Concrete มาใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ในทุกมิติ อาทิ ราคา งบประมาณ ความแข็งแรง โครงสร้าง ระยะเวลา เป็นต้น
ในส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ติดตามการดำเนินการแก้ไขจุดที่ได้รับผลกระทบจากงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างคูระบายน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งมีจุดที่ได้รับผลกระทบในฝั่งถนนวิภาวดีรังสิตขาออก จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1.EV society 2. ปั้มเอสโซ่ 3.หน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 4. หน้าศูนย์ TOYOTA BUZZ 5. อาคารรับน้ำรัชวิภา 6. STA.16+823 และฝั่งขาเข้า จำนวน 5 จุด ได้แก่ 1. หน้าหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 2. รพ.วิภาวดี 3.หน้าสำนักงานเขตจตุจักร 4. อีซูซุ ตรีเพชร 5. โรงเรียนหอวัง ซึ่งกทม.ได้ดำเนินการแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว ประกอบด้วย การจัดการกองดินและสิ่งก่อสร้างที่กีดขวางทางระบายน้ำ การบล็อกน้ำและการเปิดร่องระบายน้ำตามกรณี พร้อมจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรในกรณีฉุกเฉิน
สำหรับปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขการรื้อย้ายสาธารณูปโภคบริเวณต่างๆ และการก่อสร้างสะพานทางเชื่อมข้ามคลองวิภาวดี 87 จุด ได้แก่ 1. บริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 16 ซึ่งมีข้อร้องเรียนจากผู้ใช้เส้นทางไม่ได้รับความสะดวกจากการก่อสร้างสะานทางเชื่อมเข้า-ออก ซอยวิภาวดีรังสิต 16 และมีความจำเป็นที่จะต้องทำการลดระดับน้ำในคูน้ำเพื่อทำการดาดคูน้ำ โครงการฯ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างสะพานและจัดการจราจรให้ได้รับความสะดวกแก่ผู้ใช้เส้นทางแล้ว ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีการเชื่อมต่อกับโครงการจิตอาสาคลองเปรมประชากรและแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะต้องมีการประสานงานกับสำนักการระบายน้ำ (สนน.กทม.) ให้ลดระดับน้ำเพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ พร้อมขอลดระดับน้ำในพื้นที่การทำงานอื่นๆ เนื่องจากโครงการยังมีพื้นที่ที่จะต้องทำการดาดคอนกรีตอื่นๆ เช่น บริเวณใกล้สถานีสูบแยกสุทธิสาร ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ จึงเรียนมาเพื่อขอประสานงานเพื่อลดระดับในการทำงานในพื้นอื่นๆ
2. บริเวณหน้าโรงเรียนหอวัง ซึ่งมีการก่อสร้างกำแพงกันดิน Type 4 ของสำนักการระบายน้ำ ติดขัดแนวท่อน้ำเสีย และบ่อพัก แขวงทางหลวงกรุงเทพได้หารือร่วมกับสำนักการระบายน้ำเมื่อเดือนพ.ย.66 ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแบบก่อสร้าง 3. บริเวณแยกสุทธิสาร พบการติดขัดบ่อไฟฟ้าและท่อสายไฟฟ้าอยู่กลางคูน้ำ โดยในการก่อสร้างจำเป็นต้องสร้างนั่งร้านเพื่อให้ปั้นจั่นสามารถตอก Corrugate Sheet Pile ซึ่งอาจทำให้ท่อไฟฟ้าเสียหายได้ ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างบ่อพักไฟฟ้า (Man Hole: MH) ใหม่ และจะได้ทำการรื้อถอนบ่อพักไฟฟ้าเก่าที่ติดขวางงานก่อสร้างคูน้ำออกต่อไป ซึ่งกระทรวงมหาดไทย (มท.) จะได้เร่งรัด กฟน. ให้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.67 ต่อไป 4. บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - อาคารเอส.ซี.แอทเซท ซึ่งมีปัญหาบ่อพัก และท่อร้อยสายใต้ดินติดขัดงานก่อสร้าง การไฟฟ้านครหลวงได้ดําเนินการดันท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน และก่อสร้างบ่อพักใหม่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดําเนินการของการไฟฟ้านครหลวง คาดว่าจะแล้วเสร็จ
ประมาณ ก.พ.67
การประชุมครั้งนี้มีรองอธิบดีกรมทางหลวง ผู้บริหารกรมทางหลวง ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนบริษัท สหการ วิศวกร จำกัด ผู้แทนบริษัท ซีวิล คอนสตรัคชั่น เซอร์วิสเซส แอนด์ โปรดักส์ จํากัด ร่วมประชุม