In Bangkok

สภากทม.เห็นชอบผลการศึกษาปัญหา การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ



กรุงเทพฯ-ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ในวันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ.2567 ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและแนวทางการเสียภาษีของผู้ถือครองที่ดิน เพื่อให้กรุงเทพมหานครจัดเก็บรายได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมสอดคล้องกับกฎหมายผังเมืองรวม รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญ ประกอบด้วย ขอบเขตการศึกษา กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ระบบสารสนเทศท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร รูปแบบการจ้างเอกชน แนวทางการแก้ไขปัญหา แผนการรองรับเพื่อแก้ไขปัญหา กรอบแนวทางการพิจารณางบประมาณ ข้อมูลลูกหนี้ค้างชำระภาษี การยกเว้นการจัดเก็บภาษี การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ 50 เขต รวมถึงข้อเสนอแนะของคณะกรรมการวิสามัญ

“คณะกรรมการชุดนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อมูลและให้ความคิดเห็น รวมถึงได้ตั้งเจ้าหน้าที่มาร่วมเป็นกรรมการเพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงจากการทำงาน โดยคณะกรรมการวิสามัญได้ร่วมกันพิจารณาด้วยความรอบคอบ ระดมความคิดเห็นของทุกท่านเพื่อให้การจัดเก็บภาษีของกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม กรอบอัตรากำลังเป็นเรื่องที่สำคัญ เทคโนโลยีก็ไม่พร้อมจึงขอให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการเพื่อให้กรุงเทพมหานครได้มีเม็ดเงินสำหรับแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทันท่วงที” นายสุทธิชัย กล่าว

สำหรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการวิสามัญ ประกอบด้วย ด้านกฎหมาย ได้แก่ การกำหนดให้ทรัพย์สินของสภากาชาดไทยได้รับการยกเว้นภาษีเฉพาะที่มิได้หาผลประโยชน์เช่นเดียวกับองค์กรสาธารณกุศลอื่น ๆ การกำหนดอัตราภาษีในแต่ละประเภทให้มีความละเอียดและเป็นธรรม  ด้านบุคลากร ได้แก่ พัฒนากระบวนการสรรหาบุคลากรของสำนักงานการเจ้าหน้าที่ในการสร้างฐานข้อมูลบุคคลให้เป็นปัจจุบัน  ด้านข้อมูลจากกรมที่ดิน/กรมธนารักษ์ ได้แก่ พัฒนาระบบชำระเงินกลางของกรุงเทพมหานคร BMA E-Payment เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมธนารักษ์และกรมที่ดินให้เป็นปัจจุบันและครบถ้วนทุกรายการ  ด้านอื่น ๆ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เป็นต้น 

ทั้งนี้ นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ได้ร่วมอภิปรายและสอบถามประเด็นกรอบอำนาจของกทม. จากนั้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกับรายงานผลการศึกษา และสภากรุงเทพมหานครจะได้จัดส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป