In Bangkok

กทม.เผยสถิติ5วันอันตรายวันปีใหม่2567 อุบัติเหตุโดยร่วมลดลงแต่ตายมากขึ้น



กรุงเทพฯ-(4 ม.ค.67)​ รศ.ทวิดา​ กมลเวชช​ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานครั้งที่ 1/2567 ณ​ ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์​ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครดินแดง​  ว่า  เรื่องของความปลอดภัยและอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ​ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567​ ในส่วนของ 7 วันอันตราย ซึ่งขณะนี้ได้รับข้อมูลใน 5 วันแรก​ พบว่า​ การเกิดอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ ลดลง  คือ 23 ครั้งจากเดิม 25 ครั้ง(ปี66) แต่ผู้เสียชีวิตมากขึ้น คือ 15 ราย เดิม 13 ราย(ปี66) และจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นคือ 22 คน เดิม 21 คน(ปี66) โดยพาหนะที่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตมากที่สุดคือรถจักรยานยนต์ และอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นในเวลา​01.00 -​03.00 น.​ มากที่สุด โดยในส่วนของผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกทมจึง.ต้องประสานข้อมูลจากทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)​ เพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุและความรุนแรง​ รวมถึงนำมาวิเคราะห์การบริหารจัดการเส้นทางการจราจรและจัดทำมาตรการให้รัดกุมมากขึ้นในปีถัดไป

ในส่วนของความปลอดภัยในพื้นที่การจัดงานเคาท์ดาวน์ 2024​ พบว่า​ ในปีนี้มีการจัดการพื้นที่แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ​ 1. พื้นที่การจัดงานขนาดใหญ่ อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน ไอคอนสยาม​ สยามสแควร์​ สามย่านมิตรทาวน์​ เอเชียทีค และชุมชน​ ซึ่งในปีนี้ต้องขอขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยที่ร่วมควบคุมและบริหารการจัดงานพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ​ อย่างปลอดภัยไม่เกิดอันตราย​ แต่ก็ยังพบบางกรณี เช่น​ เรื่องความหนาแน่นของผู้คนในสถานที่จัดงาน​ที่เซ็นทรัลเวิลด์ โดยเจ้าหน้าที่มีการดำเนินการ​จัด Service​ Lane เว้นระยะ​ 2 เมตร​ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะสามารถลำเลียงคนออกจากสถานที่ได้ง่าย ทำให้สามารถช่วยคนที่เกิดเหตุเป็นลมได้ประมาณ 30 ราย​ ซึ่งต้องขอชื่นชมทางเซ็นทรัลเวิลด์ที่สามารถบริหารจัดการแก้ไขเหตุฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว​ และขอขอบคุณประชาชนที่มาร่วมงานที่เว้นระยะบริเวณ​ Service​ Lane ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้สะดวก โดยในปีหน้าจะมีการจัดแผนบริหาร จำนวนผู้ร่วมงานต่อพื้นที่ให้รัดกุมยิ่งขึ้น หรือการเพิ่มจอมอนิเตอร์ถ่ายทอดการแสดงของศิลปินบนเวทีให้ทั่วถึง เพื่อให้ทุกคนได้ดื่มด่ำบรรยากาศเคาท์ดาวน์ 2024​ ได้อย่างปลอดภัยและไม่หนาแน่นเกินไป​ ในส่วนไอคอนสยาม มีการบริหารจัดการพื้นที่ได้ดี แต่คนก็แออัดอยู่ที่สะพานลอยเข้างาน​ จึงต้องถอดบทเรียนเหตุการณ์ต่างๆ​ ในปีนี้เพื่อนำมาแก้ไขมาตรการในปีถัดไป​ 

2. พื้นที่การจัดงานสวดมนต์ข้ามปี​ ซึ่งก็มีจำนวนผู้ร่วมงานหนาแน่นเช่นกัน จึงมีปัญหาเรื่องการโดยสารสาธารณะของผู้ร่วมงาน อาทิ​ รถไฟใต้ดิน​ที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น​ ซึ่งทางรถไฟฟ้า​ MRT ก็มีการบริหารจัดการระบบตั๋วใหม่​ด้วยการตรวจสอบตั๋วโดยสารที่ปลายทางเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ดีระบายผู้โดยสารจากต้นทางใด้คล่องตัวมากขึ้น​ นอกจากนี้ในปีนี้ผลกระทบจากพลุและดอกไม้เพลิงที่จุดและหล่นตามอาคารบ้านเรือน พบว่ามีความรอบคอบและไม่กระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน​ รวมถึงสถิติการเกิดเหตุเพลิงไหม้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้ก็ลดลงอีกด้วย