EDU Research & ESG

บุหรี่- บุหรี่ไฟฟ้า'ต้นทางแรก'ทำเยาวชน 'ติดยาเสพติด'ต้องปราบปรามเด็ดขาด



บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า“ต้นทางแรก”  เด็กและเยาวชน“ติดยาเสพติด”ต้องการปราบปรามยาเสพติดเด็ดขาด ต้องปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การใช้บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนทำให้เสพติดนิโคติน ซึ่งถือเป็นต้นทางแรก ประตูเชื่อม (gateway) ให้ไปสู่การเสพติด ยาเสพติดอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนิโคตินที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนิโคตินสังเคราะห์ สามารถดูดซึมได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นมากกว่านิโคตินตามธรรมชาติ และยังก่อให้เกิดอาการระคายเคืองทางเดินหายใจส่วนต้นน้อยกว่านิโคตินแบบเดิมอีกด้วย ทำให้เด็กๆ เริ่มทดลองและเสพติดได้ง่ายมาก

“ทั้งนี้สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรมได้ทำ ‘การศึกษาพฤติกรรมการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนก่อนได้รับโทษคดียาเสพติด’ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 39 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 300 คน อายุเฉลี่ย 17 ปี เป็นเพศชาย 289 คน เพศหญิง 11 คน พบว่า 95.4% เคยสูบบุหรี่มวน และ 79.3% เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่ง76% พัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่นๆ ทั้งนี้ยาเสพติดที่นิยมมากที่สุดคือ ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน กัญชา กระท่อม 45.1% รองลงมาคือ ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ยาบ้า (แอมเฟตามีน) ไอซ์ ยาอี 40.5% ยาเสพติดประเภทกดประสาท ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน  8.9% และยาเสพติดประเภทหลอนประสาท เช่น แอลเอสดี (LSD) เห็ดขี้ควาย สารระเหย 5.5%” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวต่อว่า แสดงให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ที่เริ่มสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ตั้งแต่อายุยังน้อย จะสามารถเปลี่ยนมาเป็นทั้งผู้เสพและผู้ขายยาเสพติดได้ในอนาคต ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติทั้งนี้การที่จะปราบปรามยาเสพติดได้อย่างเด็ดขาด ต้องแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง คือการปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากการเข้าถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า