In News

'ก.พลังงาน'ยืนยันนโยบายให้ลดค่าไฟฟ้า เปล่าทำกฟผ.ถังแตกชี้รัฐฯช่วยอยู่แล้ว



กรุงเทพฯ-รองโฆษกรัฐบาล “รัดเกล้า” แจงนโยบายลดค่าไฟฟ้า ไม่ทำให้เกิดปัญหาการเงิน กฟผ.ตามที่ฝ่ายค้านอภิปรายบนเวทีงบประมาณ 67 ยืนยันมีเงินบริหาร รัฐบาลช่วยแบกรับภาระ วอนฝ่ายค้านนำข้อมูลที่เหมาะสมมาใช้อภิปราย เพื่อไม่สร้างความตระหนกให้สังคม

วันนี้ (5 มกราคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่มีฝ่ายค้านอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 มีการนำข้อมูลพาดพิงเรื่องที่ รัฐบาลลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนทำให้เป็นปัญหาการเงินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)  โดยเรื่องนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ชี้แจงไปแล้ว เป็นการนำข้อมูลที่เป็นเพียง “ข้อมูลคาดการณ์” ณ ตุลาคม 2566 มาอภิปรายในสภา ซึ่งไม่ใช่ข้อมูล “เกิดขึ้นจริง” ณ เวลานี้

นางรัดเกล้าย้ำว่า ข้อมูลตัวเลขต่างๆ ที่​ รมว.พีระพันธุ์​ นำมาชี้แจงเพื่อสร้างความกระจ่างให้กับสังคมนั้น​ ได้นำมาจากรองผู้ว่าการ กฟผ. ฝ่ายการเงิน หรือ CFO ที่ให้ข้อมูลตอนที่นำงบการเงินปี 2564 -2565 ของ กฟผ. รายงานต่อ ครม. เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 67  ซึ่งชี้ชัดในข้อเท็จจริงจากสถานะการเงิน ณ สิ้นปี 2566 กฟผ. มีเงินสดในมือประมาณ 91,000 ล้านบาท  จึงเป็นไปไม่ได้ที่ ณ เดือนมกราคม 2567 เพียงหนึ่งเดือนให้หลังกระแสเงินสดของ กฟผ. ก่อนหักค่าใช้จ่ายจะเหลือเพียง 39,234 ล้านบาท  

ส่วนมาตรฐานทางการเงินของ กฟผ. นั่นจะต้องคงสถานะเงินสดไม่ให้ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท หากเมื่อใดมีแนวโน้มว่าจะลดต่ำลงกว่ามาตรฐานนี้ กฟผ. จะดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ทันที

ขณะที่ค่าไฟฟ้าจะอยู่ระหว่าง 4.15 ถึง 4.20 บาท / หน่วย ตั้งแต่มกราคมถึงเมษายน 2567 และเพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง​ ค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย ที่รัฐบาลคงไว้ที่ 3.99 บาท / หน่วย   ทั้งสิ้นนั้น​ รัฐบาลเป็นผู้แบกรับภาระจากเงินงบกลางเป็นเงินประมาณ 1,995 ล้านบาท จึงไม่เป็นภาระของ กฟผ. ฝ่ายเดียว  นอกจากนี้รัฐบาลมีการบริหารจัดการและช่วยดำเนินการในหลายรูปแบบ โดยในครั้งนี้รัฐบาลมีการปรับโครงสร้าง Pool Gas และให้ กกพ. เรียกเก็บค่า Shortfall มาลดภาระ รวมทั้งใช้เงินงบกลางเข้ามาช่วยลดภาระ กฟผ. ด้วย

สำหรับการชำระหนี้เดิมที่มีกับ ปตท.นั้น กฟผ.ได้ชำระหมดสิ้นแล้วตั้งแต่มกราคม 2566 ทั้งปีนั้น กฟผ. ไม่ได้ติดหนี้อะไร ปตท. เพิ่มเติม​ เพราะมีการชำระหนี้ให้ ปตท. ตามกำหนดเวลาตลอดมา จึงไม่มีหนี้สินอะไรกับ ปตท. อีกแล้ว​  รวมถึงการส่งรายได้ให้รัฐของ กฟผ.สำหรับปี 2566 นี้ประมาณ 24,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 17,142 ล้านบาท แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของ กฟผ. ด้วยว่าขนาดอัตราค่าไฟฟ้าลดลง แต่ กฟผ. ยังสามารถนำส่งรายได้สูงกว่า “ข้อมูลคาดการณ์” ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า

“เรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ชี้แจงกับประชาชนเพื่อให้เข้าใจถึงข้อมูลปัจจุบันที่ถูกต้องและเป็นจริงแล้ว ขอสื่อและประชาชนฟังข้อมูลจากทางภาครัฐ ก่อนปักใจเชื่อ ไม่อยากให้เกิดความตื่นตระหนก

ขณะเดียวกันวอนสมาชิกฝ่ายค้านควรนำข้อมูลที่ถูกต้องในการอภิปรายในสภาฯ เนื่องจากการอภิปรายครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ประชาชนจะได้ไม่เข้าใจผิด​ วิตกกังวล​ โดยไม่จำเป็น” รัดเกล้า กล่าว