In News

ศาลยธ.ชี้หลักพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว



กรุงเทพฯ -เลขาฯสำนักงานศาลยุติธรรม อธิบายถึงหลักกฎหมายในการพิจารณาและมีคำสั่งของศาลยุติธรรม ในการร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา

วันที่ 23 เม.ย.2564 นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งคำถามต่อการพิจารณาและมีคำสั่งของศาลยุติธรรมในการร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาในคดีบางคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลยุติธรรมว่า ศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาตลอดมา ว่าเป็นสิทธิประการหนึ่งของผู้ต้องหาในคดีอาญา ท่านประธานศาลฎีกาเองก็ให้นโยบายที่เน้นย้ำถึงการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอน แต่การพิจารณาและมีคำสั่งศาลจำเป็นต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดประกอบกับพฤติการณ์และความจำเป็นในแต่ละคดีซึ่งย่อมมีความแตกต่างกัน

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ได้กำหนดให้ศาลอาจสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวหากปรากฎกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่ออันตรายประการอื่น หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือการดำเนินคดี โดยเมื่อเจ้าพนักงานหรือศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวก็ต้องระบุเหตุผลโดยอ้างอิงไปยังเหตุตามกฎหมายด้วย กรณีที่เกรงว่าจำเลยหรือผู้ต้องหาอาจก่ออันตรายประการอื่นนั้น กฎหมายมุ่งป้องกันมิให้จำเลยหรือผู้ต้องหา  ไปกระทำซ้ำในสิ่งที่ถูกฟ้องร้องหรือถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดหรือกระทำความผิดอย่างอื่น หากจำเลยหรือผู้ต้องหาคนใดมีพฤติการณ์หรือแนวโน้มที่จะกระทำเช่นนั้นและไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะป้องกันได้ ศาลย่อมไม่อาจปล่อยชั่วคราวได้ การที่กฎหมายกำหนดในลักษณะดังกล่าวเพื่อให้ศาลชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิของจำเลยกับความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของผู้เสียหาย ชุมชนและสังคมที่ต้องพิจารณาประกอบนอกเหนือจากสิทธิของจำเลย

หลักการกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ใช้ในประเทศไทยในปัจจุบันสอดคล้องกับหลักการสากลที่การพิจารณา และมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวเป็นกรณีที่ศาลต้องพิจารณาตามพฤติการณ์แต่ละคดีภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 เองก็ได้กำหนดไว้ด้วยว่าอาจมีการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างพิจารณาได้เพียงแต่ไม่พึงใช้มาตรการดังกล่าวเป็นการทั่วไปเท่านั้น

ในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรได้กำหนดไว้ใน Criminal Justice and Public Order Act 1994 และ The Bail Act 1976 กำหนดให้ศาลอาจมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวได้เว้นแต่ในบางกรณีกฎหมายห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวในความผิดบางประเภท และศาลอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยอาจไม่กลับมามอบตัวต่อศาลหากได้รับการปล่อยตัวไป หรืออาจกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งอีกในระหว่างการปล่อยชั่วคราว ประเทศออสเตรเลียก็มีบทบัญญัติทำนองเดียวกัน

ในการควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาแม้จะทำให้จำเลยหรือผู้ต้องหาถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง แต่หาได้ทำให้ถึงขนาดขาดความสามารถในการต่อสู้คดีอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ฯ จำเลยหรือผู้ต้องหามีสิทธิปรึกษาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีแก่ทนายความของตนได้อย่างเต็มที่และอาจปรึกษาเป็นการลับก็ได้หากมีความจำเป็น ในการดำเนินคดี การสืบพยานและซักถามพยานในกระบวนพิจารณาตามปกติทนายความซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้โดยเฉพาะทางกฎหมายสามารถช่วยเหลือและเป็นตัวแทนของจำเลยหรือผู้ต้องหาได้อยู่แล้ว หากมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนแก่ทนายความ ทนายความย่อมดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อตระเตรียมคดีในการว่าต่างแก้ต่างให้แก่จำเลยได้เช่นเดียวกับแนวปฏิบัติในคดีทั่ว ๆ ไปอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ หากผู้ขอปล่อยชั่วคราวไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่อนุญาตของศาล ก็สามารถอุทธรณ์ไปยังศาลที่สูงกว่าได้ หรือสามารถยื่นขอปล่อยชั่วคราวใหม่ได้โดยมิได้จำกัดจำนวนครั้งของการยื่นคำร้อง ซึ่งทางปฏิบัติ  ก็มีกรณีที่หากมีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงจากเดิม แล้วศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว แม้จะเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตก่อนหน้านั้นก็ตาม เพราะการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเป็นการใช้ดุลพินิจในกรอบของกฎหมาย ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลจากในคำร้องหรือทางไต่สวน ดังนั้น การใช้ดุลพินิจ  ในแต่ละคดีแม้จะเป็นข้อหาเดียวกัน ก็อาจจะแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่ปรากฏ ในแต่ละคดีและแต่ละช่วงเวลาว่าปรากฏเหตุอันควรไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามกฎหมายหรือไม่

ในปี 2563 ที่ผ่านมา จำเลยหรือผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวรวม 237,875 คดี ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวถึง 217,904 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 91.26 ย่อมแสดงให้เห็นว่าการพิจารณาและมีคำสั่งของศาลยุติธรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยเสมอมา และไม่ได้เป็นการพิจารณาและมีคำสั่งไปในทางใดทางหนึ่งด้วยเหตุอื่นอื่นใดนอกเหนือจากเหตุผลตามที่กฎหมายกำหนด

ในการพิจารณาพิพากษาคดีความต่าง ๆ ศาลยุติธรรมทุกศาลย่อมพิจารณา ให้ความสำคัญและรับฟังเหตุผลและข้อต่อสู้ของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น หากจำเลยหรือผู้ต้องหามีข้อต่อสู้หรือเหตุผลที่จะอธิบายหรือชี้แจงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา หนทางที่ดีที่สุดคือการตระเตรียมเหตุผล ตลอดจนข้อมูลและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ใช้สนับสนุนร่วมกับทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายให้มีความครบถ้วนตามที่ต้องการจึงจะทำให้ศาลสามารถนำเหตุผลและข้อเท็จจริงเหล่านั้นมาประกอบการพิจารณาได้

ประการสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ศาลยุติธรรมดำเนินการเสมอมาที่จะทำให้กระบวนพิจารณาทุก ๆ คดีดำเนินไปได้ด้วยความรวดเร็วภายในเวลาอันสมควร หนทางที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายจึงน่าจะเป็นการที่ ทุกฝ่ายร่วมมือตามบทบาทหน้าที่ของตนในการทำให้การดำเนินคดีดำเนินไปตามครรลองและกระบวนการ ที่ควรจะเป็นตามกฎหมาย เพื่อสุดท้ายแล้วศาลจะได้มีโอกาสพิจารณาพยานหลักฐาน เหตุผลและข้อต่อสู้ของทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ครบถ้วนและพิพากษาคดีได้อย่างเป็นธรรม