Authority & Harm

'ราชทัณฑ์'ชี้แจง'นพ.วรงค์'กับ2ข้อสงสัย ดูแลรักษาผู้ต้องขัง/นำมือถือเข้าเรือนจำ



“ราชทัณฑ์ ชี้แจง นพ.วรงค์  กรณีการดูแลรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง

พร้อมแจงกรณีการนำมือถือเข้าเรือนจำ”

ตามที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรไทยภักดี ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุพาดพิง ถึงการดูแลและรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง 2 มาตรฐาน ตลอดจนครั้งเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเดินทางเข้าตรวจเยี่ยมเรือนจำกลางบางขวาง มีคณะผู้ติดตามได้นำโทรศัพท์มือถือเข้าภายเรือนจำ จึงขอให้กรมราชทัณฑ์ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าว นั้น

กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากเรือนจำกลางบางขวาง ในกรณีการดูแลรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง ซึ่งได้ยืนยันว่าทางเรือนจำฯ ให้การดูแลรักษาพยาบาลผู้ต้องขังทุกราย แม้กระทั่งผู้ต้องขังชาวต่างประเทศอย่าง เท่าเทียมกัน โดยมีโรงพยาบาลกลางบางขวางภายในเรือนจำ ที่ให้การรักษาพยาบาล และหากมีการเจ็บป่วยที่เกินความสามารถของโรงพยาบาลกลางบางขวาง ก็จะดำเนินการส่งเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแม่ข่ายหรือโรงพยาบาลเฉพาะทางของโรคเหล่านั้น  ในส่วนของการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรื่องปัจจัย 4 การควบคุมดูแล และการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์และข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา - Mandela Rules)  

สำหรับในกรณีการนำโทรศัพท์มือถือเข้าภายในเรือนจำ นั้น ขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจในกรณีดังนี้ว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมภายในเรือนจำ และได้มีบุคคลในคณะของรัฐมนตรีซึ่งติดตามมาในภายหลังเนื่องจากมีภารกิจต้องติดต่อประสานงานราชการอย่างต่อเนื่อง  โดยงานควบคุมของเรือนจำจึงได้แจ้งขออนุญาตต่อผู้บัญชาการเรือนจำ ในการนำโทรศัพท์มือถือเข้ามาในภายในเรือนจำเพื่อใช้ในการติดต่อประสานงานราชการ ซึ่งกรณีดังกล่าว  เป็นไปตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ 2560 บัญญัติว่า “สิ่งของต้องห้าม ตามมาตรา 72 และมาตรา 73 ไม่หมายความรวมถึงสิ่งของต้องห้ามที่ใช้ในราชการ”

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง จึงได้อนุญาตให้บุคคลที่มีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือในการติดต่อสื่อสารของทางราชการ นำเข้าภายในเรือนจำได้ เช่น แพทย์ หรือส่วนราชการที่มาร่วมงานในเรือนจำเป็นเวลานานและมีความจำเป็นในการใช้โทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสารในขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบตามกฎหมาย