In News

รัฐฯโต้นักวิชาการพท.ไม่เอาร่างงบฯลุงตู่ ซัดวิจารณ์ทั้งที่ไม่เคยเห็นร่างฯเดิม



กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาลโต้กรณีข้อวิจารณ์ที่ว่า รัฐบาลไม่ยอมรับร่าง พ.ร.บ.งบปี 67 เดิมที่รัฐบาลประยุทธ์ทำเอาไว้ ถามกลับนักวิจารณ์ เอาอะไรมาพูดว่าร่าง พ.ร.บ.งบปี 67 ของรัฐบาลนี้ไม่แตกต่างจากร่างฉบับปลายรัฐบาลลุงตู่ทั้งๆที่ไม่เคยมีใครเห็นร่างฯฉบับปลายรัฐบาลลุงตู่เลย

วันนี้ (7 มกราคม 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยต่อกรณีที่มีข้อวิจารณ์รัฐบาลนี้ไม่ยอมรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เดิม ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำเอาไว้นั้น ขอชี้แจงว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ฉบับที่ปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำเอาไว้ เคยถูกเสนอกรอบวงเงินงบประมาณให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบเพียงครั้งเดียว โดยรายละเอียดต่าง ๆ ไม่เคยถูกนำเสนอให้ ครม.หรือสภาฯ หรือสาธารณชนได้รับทราบมาก่อนเลย  

นายชัยกล่าวว่า ดังนั้น ที่ฝ่ายค้านก็ดี นักวิชาการหรือนักวิจารณ์ต่างพากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลนี้ทำเป็นไม่ยอมรับร่างเดิมที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำเอาไว้ ขอเอากลับไปแก้ไขปรับปรุงใหม่ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เป็นเหตุให้กระบวนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2567 เริ่มต้นนับหนึ่งช้าไป 3 - 4 เดือน แต่สุดท้ายคลอดออกมาก็ไม่ต่างอะไรกับร่างที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทำเอาไว้เลย แถมกล่าวหาว่านี่จึงเป็นเหตุให้ประเทศชาติและประชาชนเสียโอกาสในการได้ใช้งบประมาณปี 2567 ล่าช้าไปจนถึง พ.ค. ปีหน้านั้น 

“คำถามคือ ในเมื่อไม่มีใครเคยเห็นร่างฉบับของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เลย แล้วเอาอะไรมาเปรียบเทียบว่าร่างของรัฐบาลนี้ไม่แตกต่างจากฉบับของปลายรัฐบาลลุงตู่แต่อย่างใด เอาอะไรมาพูด?” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว  

นายชัย ยังได้ย้ำถึงการชี้แจงของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อที่ประชุมสภาฯ ถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงินรวม 3.48 ล้านล้านบาท ว่า แม้การจัดทำงบประมาณฯ จะถูกจัดทำภายใต้เวลาที่เร่งด่วน มีงบผูกพันที่รัฐบาลนี้จะต้องดูแลอย่างเป็นธรรม และมีวงเงินที่จำกัด แต่รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการมุ่งทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น ผ่านการทำนโยบายที่ครอบคลุม เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองทั้งนโยบายระยะสั้น และนโยบายระยะยาว โดยนายกรัฐมนตรีมั่นใจ แม้จะเหลือระยะเวลาการการใช้งบปี 2567 ไม่นาน แต่รัฐบาลนี้จะใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้อย่างรู้คุณค่า ใช้อย่างมีเป้าหมาย ให้คุ้มกับเงินภาษีของประชาชนทุกบาท ทุกสตางค์