In Bangkok
'จักกพันธุ์'สำรวจริมคลองสามตะวันออก เตรียมเนรมิตสวนสาธารณะยักษ์65ไร่
กรุงเทพฯ-สำรวจพื้นที่ริมคลองสามตะวันออกเตรียมพัฒนาเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 65 ไร่ ส่องสวนวัดพระยาสุเรนทร์ คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้าง SHAWN Panya Indra ชมคัดแยกขยะชุมชนเฟื่องฟ้าพัฒนาย่านคลองสามวา
(8 ม.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตคลองสามวา ประกอบด้วย
สำรวจพื้นที่ว่างบริเวณริมคลองสามตะวันออก (ตรงข้ามวัดสุทธิสะอาด) ซอยนิมิตใหม่ 36 ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถนนสุขาภิบาล 5 กับถนนนิมิตใหม่ (ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช) โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา และสำนักงานเขตคลองสามวา จะร่วมกันพัฒนาจัดสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 65 ไร่ พร้อมทั้งมีแนวคิดในการบูรณาการ 50 สำนักงานเขต เพื่อร่วมกันปลูกต้นไม้ และแบ่งเป็น 6 กลุ่มเขต เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ต่อไป ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ประสานสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา ร่วมกันพิจารณาออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งาน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง นอกจากนี้ได้ติดตามการจัดทำสวน 15 นาที สวนวัดพระยาสุเรนทร์ ถนนพระยาสุเรนทร์ เขตฯ ได้ดำเนินการปรับพื้นที่เตรียมปลูกต้นไม้ ได้แก่ ต้นพิกุล ต้นเฟื่องฟ้า ต้นชาฮกเกี้ยน ต้นต้อยติ่ง วางแผ่นทางเท้า จัดทำทางเดิน ตั้งวางม้านั่ง ประดับตกแต่งภายในสวน ในพื้นที่เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) คือสวนสามวาพนานุรักษ์ ถนนสามวา พื้นที่ 2 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสามวาประชาสุขสันต์ ถนนสุขาภิบาล 5 ซอย 82 ใกล้หมู่บ้านเนเบอร์โฮม พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา 2.สวนเจริญสุข สุขสำราญพัฒนา บริเวณริมคลองลำแบน ชุมชนสุขสำราญพัฒนา ซอยหทัยราษฎร์ 41 พื้นที่ 1 ไร่ 3.สวนราษฎร์ร่วมใจ ถนนราษฎร์ร่วมใจ ซอยประชาร่วมใจ 62 (แยกบาแล) พื้นที่ 3 ไร่ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาทีเพิ่มเติม จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.สวนวัดพระยาสุเรนทร์ พื้นที่ 1 ไร่ ดำเนินการแล้ว 40% 2.บึงแบนตาโพ ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง พื้นที่ 9 ไร่ 3 งาน 54 ตารางวา ดำเนินการแล้ว 10% 3.พื้นที่ไหล่ทางถนนไมตรีจิต พื้นที่ 2 ไร่ ดำเนินการแล้ว 10% 4.ริมคลองกีบหมู ใกล้มัสยิดย่ามีอะห์ ซอยสุเหร่าคลองหนึ่ง 13 พื้นที่ 7 ไร่ อยู่ระหว่างออกแบบพื้นที่ 5.พื้นที่ว่างซอยนิมิตใหม่ 36 พื้นที่ 65 ไร่ 3 งาน อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ SHAWN Panya Indra ฌอน ปัญญาอินทรา ถนนเลียบคลองสอง ดำเนินการโดย บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคาร ค.ส.ล. ความสูง 2 ชั้น จำนวน 47 หลัง นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทเคาะ ปะผุ พ่นสี 28 แห่ง ประเภทเลื่อย ตัดหิน 4 แห่ง ประเภทหม้อไอน้ำ (น้ำมันเตา) 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำโดยรอบตลอดเวลาการทำงาน ตรวจวัดควันดำรถบรรทุกรถโม่ปูนที่ผ่านเข้าออกโครงการอย่างสม่ำเสมอ
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนเฟื่องฟ้าพัฒนา ซอยนิมิตใหม่ 62 พื้นที่ 800 ไร่ ประชากร 508 คน บ้านเรือน 130 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนคัดแยกเศษใบไม้ เศษผัก ผลไม้ เศษอาหารจากครัวเรือน โดยการแปรรูปเป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ประโยชน์ในชุมชน 2.ขยะรีไซเคิล ส่งเสริมให้สมาชิกคัดแยกขยะรีไซเคิลจากครัวเรือนของตนเอง เช่น ขวดแก้ว พลาสติก กระดาษ โลหะ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ หรือนำไปขายเป็นรายได้เสริมของครัวเรือน รวมถึงส่งเสริมให้คัดแยกน้ำมันพืชใช้แล้ว ส่งขายให้กับภาคเอกชนเพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานไบโอดีเซล 3.ขยะทั่วไป ส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ โดยการคัดแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือนของตนเอง 4.ขยะอันตราย ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับสมาชิกในการคัดแยกขยะอันตรายออกจากขยะครัวเรือน นำมาทิ้งในจุดรับขยะอันตรายที่จัดเตรียมไว้ ประสานฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เข้ามาจัดเก็บภายในชุมชน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 12,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 6,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 700 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนและหลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะฯ ได้ติดตามการก่อสร้างจุดกลับรถ บริเวณใต้สะพานข้ามคลองสามตะวันออก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในเส้นทางดังกล่าว บรรเทาปัญหาจราจรติดขัดและป้องกันอุบัติเหตุ ช่วยย่นระยะทางและเวลาในการกลับรถ รวมทั้งป้องกันการบุกรุกพื้นที่สาธารณะก่อสร้างที่พักอาศัย ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ในการนี้มี นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสามวา นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นายสมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคลองสามวา สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล