In News

แนวดำเนินการCoding for Better Life สร้างรากฐานดิจิทัลอนาคตประเทศไทย



กรุงเทพฯ-​รองโฆษกฯ รัดเกล้าฯ เผย ครม. รับทราบแนวทางการดำเนินโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เน้นย้ำนโยบายปฏิรูปการศึกษา และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียน และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ จัดทำหลักสูตร และให้คำแนะนำที่เหมาะสมเพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (9 มกราคม 2567) ได้รับทราบแนวทางการดำเนินโครงการ เพื่อขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ได้ดำเนินโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย เพื่อให้สอดรับกับนโยบายเร่งด่วนดังกล่าว โดยขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างยั่งยืน ซึ่งในแผนงานระยะสั้น ดศ. ได้ดำเนินการ Global Digital Talent Visa หรือการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวกรณีพิเศษสำหรับผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนสามารถเข้ามาพำนัก และทำงานในประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ส่วนแผนงานระยะยาว ดศ. ได้เตรียมแผนงานที่จะรองรับ  พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาความรู้และทักษะดิจิทัลแก่ประชาชนไทยทุกกลุ่มและทุกระดับ ตั้งแต่เด็กและเยาวชน ที่ต้องมีความรู้พื้นฐานด้าน Coding แรงงานต้องได้รับการยกระดับทักษะดิจิทัลชั้นสูง อาทิ AI, Machine Learning, Internet of Things และ Cloud Computing Software 

โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ดำเนินการใน 4 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย

1. การยกระดับห้องเรียนโค้ดดิ้ง (Develop Coding Infrastructure) โดยตั้งเป้าดำเนินการในโรงเรียนทั่วประเทศรวม 1,500 แห่ง โดยเปิดกว้างให้โรงเรียนที่สนใจและมีความพร้อมสมัครเข้าร่วมโครงการในรูปแบบร่วมมือพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และบูรณาการการทำงานกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง 

2. การจัดทำหลักสูตรโค้ดดิ้ง พร้อมเสริมทักษะการสอนแก่คุณครู (Coding Coach Incubation) Re-Skill Up-skill คุณครูสู่การเป็น Coding Coach โดยตั้งเป้าเสริมทักษะการสอนแก่ครูไม่น้อยกว่า 3,000 คน เพื่อเป็นบุคลากรสำคัญที่จะถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียน ซึ่งคาดว่าจะสามารถยกระดับทักษะโค้ดดิ้งให้กับนักเรียนได้ไม่น้อยกว่า 300,000 คนต่อปี

3. การเสริมทักษะโค้ดดิ้งเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Acceleration Through Coding Challenge) โดยส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยการระดมครูผู้สอนและนักเรียนร่วมเติมทักษะโค้ดดิ้งเข้มข้นผ่าน 2 กิจกรรม ได้แก่

- Coding Bootcamp สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะโค้ดดิ้งผ่านการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พร้อมสร้างสรรค์ผลงานโค้ดดิ้ง 
- Coding War เวทีการแข่งขันโค้ดดิ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นร่วมระดมความคิด สร้างสรรค์ผลงานเพื่อก้าวสู่การเป็นสุดยอดทีมโค้ดดิ้ง 

4. การสร้างความตระหนักรู้ด้านโค้ดดิ้งและการประยุกต์ใช้จริงแก่ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป (Awareness Coding Thailand) เพื่อต่อยอดการนำความรู้และทักษะด้านโค้ดดิ้งมาใช้ในบริบทต่าง ๆ ทั้งด้านเกษตรกรรม การดำเนินธุรกิจ ฯลฯ พร้อมลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง Coding เปิดโอกาสผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ผู้พิการทางร่างกายที่ความสนใจ ให้สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนโค้ดดิ้งได้

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับแรงกระแทกของอุตสาหกรรมโลกใหม่ผ่านการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล รองรับความต้องการของประเทศ