Automotive info

งานCES 2024'บ๊อช'โชว์เทคโนฯดิจิทัล ช่วยให้ผู้คนใช้พลังงานอย่างยั่งยืน 



ลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา  ทั้งบนท้องถนน และที่บ้าน บ๊อชรุดหน้าพัฒนาเทคโนโลยี และโซลูชันต่าง ๆ ด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification) เพื่อการใช้พลังงานแบบยั่งยืน และยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของไฮโดรเจนในการตอบโจทย์ด้านการใช้พลังงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ โดยที่งาน CES® 2024 ที่จัดขึ้นที่ลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 9 – 12 มกราคม 2567 บริษัทฯ ได้นำเสนอเทคโนโลยี และแอปพลิเคชันสุดล้ำที่นอกจากจะทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น ปลอดภัย และสะดวกสบายขึ้นแล้ว ยังส่งเสริมความยั่งยืนเพื่อโลกของเราอีกด้วย ทั้งนี้การใช้พลังงานของโลกนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกประมาณร้อยละ 2 ต่อปี1 โดยเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นนับเป็นร้อยละ 80 ของการใช้พลังงานของโลก ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก

ดร.ทันย่า รูคเกิร์ต กรรมการบริหาร Robert Bosch GmbH ได้กล่าวที่งาน CES 2024 ที่ลาสเวกัสนี้ว่า “ที่บ๊อช เราปรับกระบวนความคิดเรื่องการใช้พลังงานใหม่โดยให้ความสำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ การใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification) และไฮโดรเจน (Hydrogen) เพื่อช่วยให้พวกเราบรรลุเป้าหมายการบริหารความต้องการในการใช้พลังงานของโลกโดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต่ำ เราจึงต้องพัฒนาการใช้พลังงงานไฟฟ้าสำหรับการเดินทาง อาคาร และที่อยู่อาศัย เพื่อให้การใช้พลังงานจากแหล่งธรรมชาติแบบดั้งเดิมนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด และเราก็จำเป็นต้องสรรหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากไฮโดรเจน”    

ด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยของบ๊อช ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้า มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การใช้พลังงานไฟฟ้าก้าวหน้าไปมากโดยเฉพาะด้านการขับเคลื่อน ซึ่งบ๊อชเป็นผู้นำด้านการให้บริการตลอดห่วงโซ่มูลค่าของเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ที่เริ่มตั้งแต่ชิปชุดขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า (E-Axles) และเครื่องยนต์ไฟฟ้า จนถึงเทคโนโลยีแบตเตอรี่ สถานีชาร์จไฟฟ้า และการให้บริการอื่น ๆ  สำหรับที่งานนี้ หนึ่งในนวัตกรรมที่บ๊อชนำเสนอ ได้แก่ ระบบการชาร์จไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ Automated Valet Charging ที่ได้รับรางวัล “CES 2024 Innovation Award” จาก Consumer Technology Association (CTA) โดยที่จอดรถที่มีการติดตั้งระบบการจอดรถอัตโนมัติ (automated valet parking) นั้น รถไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีใหม่นี้จะสามารถขับเคลื่อนตัวเองไปยังที่จอดที่ว่างอยู่ที่มีจุดชาร์จไฟฟ้าได้ โดยหุ่นยนต์จะชาร์จไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่ให้ โดยเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรนอกจากการกดปุ่มบนสมาร์ทโฟนเท่านั้น โดยเมื่อการชาร์จไฟฟ้าเสร็จสิ้น รถก็จะเคลื่อนที่ด้วยตัวเองแบบไร้คนขับไปยังที่จอดรถที่ว่างอยู่ และให้พื้นที่ชาร์จไฟฟ้ากับรถคันต่อไป ดร.ทันย่า รูคเกิร์ต กล่าวว่า “การทำงานร่วมกันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของระบบชาร์จไฟฟ้าอัตโนมัติ และระบบจอดรถอัตโนมัติทำให้บ๊อชเป็นผู้บุกเบิกในตลาดนี้” และยังเสริมอีกว่า “ทุกก้าวของการพัฒนาเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นนั้น ช่วยเพิ่มทั้งความน่าสนใจ และการยอมรับเทคโนโลยีนี้มากขึ้น”

ฟีเจอร์การใช้งานใหม่ ๆ ของเครื่องใช้ในบ้านของบ๊อช ไม่ว่าจะเป็นเตาอบ ที่เป่าผม หรือเครื่องซักผ้าก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านนี้ อาทิ การใช้ระบบการตั้งเวลาเพื่อเริ่มการทำงานของเครื่องใช้ต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องปกติมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว ซึ่งในปัจจุบัน บ๊อชได้ก้าวไปอีกขั้นโดยการติดตั้งระบบ “MySchedule” เป็นครั้งแรกสำหรับเครื่องล้างจานรุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งจะทำให้สามารถตั้งเวลาอัตโนมัติเพื่อให้เริ่มวงจรการล้างจานในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ เช่น ในช่วงที่ค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด หรือในช่วงที่สามารถใช้พลังงานทดแทนได้ นอกจากนั้นแล้ว บริษัทฯ ยังมีข่าวดีสำหรับช่างมืออาชีพ โดยที่งาน CES 2024 นี้ บ๊อชได้ประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่สำหรับแพลตฟอร์มแบตเตอรี่สำหรับเครื่องมือไฟฟ้า “AMPShare” ซึ่งมีพันธมิตรระดับโลกเข้าร่วมมากกว่า 30 ราย ทั้งนี้ AMPShare ของบ๊อชถือเป็นระบบแบตเตอรี่ที่ทำให้ช่างมืออาชีพในภาคอุตสาหกรรมและการค้าได้รับความยืดหยุ่นในการทำงาน เพราะสามารถเปลี่ยนใช้เครื่องมือช่างระหว่างแบรนด์เครื่องมือที่หลากหลายได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่

บ๊อช เดินหน้าเต็มที่ในการสนับสนุนไฮโดรเจนให้เป็นหนึ่งในเสาหลักของการขับเคลื่อนในอนาคต

นอกเหนือจากการใช้พลังงานไฟฟ้าแล้ว บ๊อชมองว่าไฮโดรเจนจะเป็นตัวแปรสำคัญในการตอบโจทย์ความต้องการพลังงานของโลกโดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มากไปกว่านั้นแล้ว ไฮโดรเจนถือเป็นสื่อในการจัดเก็บที่ทำให้การใช้พลังงานที่ได้จากแหล่งพลังงานทดแทนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งบ๊อชได้ลงทุนอย่างกว้างขวางในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนตลอดห่วงโซ่มูลค่า โดย ณ ปัจจุบันจะมุ่งเน้นที่เซลล์เชื้อเพลิงเคลื่อนที่ หรือ Mobile Fuel Cell ซึ่งได้เริ่มผลิตอย่างจริงจังแล้วที่เมืองชตุทการ์ท  ซึ่งถือเป็นหัวใจของระบบส่งกำลังรถยนต์ (Powertrain System) สำหรับยานพาหนะขนาดใหญ่  โดยบ๊อชได้รับคำสั่งซื้อสินค้าชุดแรกจากผู้ผลิตรถบรรทุกจากยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีนเรียบร้อยแล้ว  นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนของเครื่องยนต์พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นพลังงานได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าก่อน จากการที่ใช้พลังงานสะอาดจากไฮโดรเจน ทำให้เครื่องยนต์นี้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเครื่องยนต์พลังงานไฮโดรเจนนี้มีแผนที่จะออกสู่ตลาดในปีนี้

ซอฟต์แวร์นำไปสู่ความสะดวกสบายที่มากขึ้น และประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่สูงขึ้น

การใช้ซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสิ่งที่ทุก ๆ หน่วยงานของบ๊อชให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเรามีเจ้าหน้าที่กว่า 44,000 คนที่ทำงานโดยตรงเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนที่มีซอฟต์แวร์เป็นกลไกสำคัญ สำหรับงานที่ลาสเวกัสนี้ บ๊อชได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ และโซลูชันใหม่หลายชิ้นร่วมกับ Amazon Web Services ซึ่งเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของเรา ซึ่งรวมถึงเครื่องทำกาแฟอัตโนมัติที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ  ซึ่งสามารถควบคุมจากรถได้โดยใช้ระบบสั่งการด้วยเสียง (Voice Assistance) อย่างเช่น Alexa รวมทั้งระบบผู้ช่วย Point-of-Interest Assistant ที่ใช้กล้องภายในตัวรถที่รับรู้ได้ว่าร้านอาหาร หรือคาเฟ่อันไหนที่ผู้ขับสนใจ และมองอยู่ โดยการจับการเคลื่อนไหวของดวงตา หลังจากนั้นระบบสั่งงานด้วยเสียงจึงรายงานผู้ขับอัตโนมัติ และทันทีว่าร้านอาหารที่สนใจอยู่นี้เปิด และมีโต๊ะว่างหรือไม่

 

นอกจากนวัตกรรมเครื่องทำกาแฟแล้ว บ๊อชยังได้เปิดตัวการให้บริการการขับเคลื่อนอีก 2 บริการด้วยกันในงานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์นี้ ได้แก่ Usage Certificate To Go และ Vehicle Health Service โดย Usage Certificate To Go นั้นเป็นส่วนเพิ่มเติมของบริการ Battery in the Cloud ของเราที่ให้บริการก่อนหน้านี้อยู่แล้ว โดยมีฟีเจอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลแบตเตอรี่ ระบุสถานะของแบตเตอรี่ และช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่อีกร้อยละ 20 จากการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สำหรับ Vehicle Health Service นั้นจะให้บริการแก่ผู้ประกอบการการขนส่ง (Fleet Operator) ซึ่งมีฟังก์ชันการทำงานที่ออกแบบเฉพาะเพื่อป้องกันยานพาหนะไม่ให้เสีย หรือเครื่องดับ ซึ่งนวัตกรรมทั้งสองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยืดอายุการใช้งานของยานพาหนะและอนุรักษ์ทรัพยากร นอกจากนี้ บ๊อชยังใช้วิธีการเดียวกันกับการใช้พลังงานในอาคารอีกด้วย โดยบริษัทฯ ให้บริการด้านดิจิทัลหลากหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น "Nexospace Energy Manager" หรือผู้จัดการพลังงานที่มุ่งให้บริการกับตลาดยุโรป โดยจะช่วยลูกค้าในการคำนวณอุปทานของพลังงานและการใช้พลังงาน เพื่อแนะนำวิธีในการลดการใช้พลังงาน และทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้พลังงาน ตัวอย่างเช่น กรณีของเครือซูเปอร์มาร์เก็ตระดับสากลอย่าง REWE ที่สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 20 ในสาขากว่า 2,000 แห่ง จากการใช้ Nexospace Energy Manager ในขณะที่ในอุตสาหกรรมการผลิต บริการต่าง ๆ ของบ๊อช ยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2  ได้อย่างมีนัยสำคัญ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยมี  “Decarbonize Industries” ซึ่งเป็นบริการซอฟต์แวร์ที่ใช้ AI ที่พัฒนาโดยบ๊อช ร่วมกับพันธมิตรรายหนึ่ง ที่ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าสามารถลดการปล่อยคาร์บอน และประหยัดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ