In News
รัฐฯเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรคนแก่รู้ทันสื่อ 'หยุด-คิด-ถาม-ทำ'ภูมิคุ้มกันมิจฉาชีพ
กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาล เผยรัฐบาลเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” สร้างภูมิคุ้มกันการรับสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ป้องกันผู้สูงวัยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกลวง พร้อมต่อยอดขยายผลในโรงเรียนผู้สูงวัย 2,456 แห่งทั่วประเทศ
วันนี้ (12 มกราคม 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายต่อการถูกหลอกลวงจากโลกออนไลน์ได้ง่าย ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็น เร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้เดินหน้าร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาหลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” รูปแบบออนไซต์ และออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้ เสริมเกราะป้องกันผู้สูงวัย รู้เท่าทันสื่ออย่างมีวิจารณญาณ พร้อมเตรียมต่อยอดเป็นหลักสูตรแกนกลางของโรงเรียนผู้สูงวัยทั่วประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย 3 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มคนตัว D บริษัท ทำมาปัน จำกัด และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนาหลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับประชาชนในสังคม สร้างการสื่อสารที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพิ่มความปลอดภัยในการใช้ชีวิต การรู้เท่าทัน และเฝ้าระวังสื่อของผู้สูงอายุ พัฒนาสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ โดยมุ่งเป้าขยายผลหลักสูตรในโรงเรียนผู้สูงวัย 2,456 แห่งทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายอาสาสูงวัยรู้ทันสื่อในระดับชุมชน เพื่อเป็นกลไกร่วมเฝ้าระวังสื่อในระดับประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำหนังสือและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E – book) หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ รวมถึงเว็บไซต์ เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับผู้สูงวัยและประชาชนทั่วไปอีกด้วย
“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างครอบคลุม ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยในกลุ่มผู้สูงวัยมีแนวโน้มตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงผ่านสื่อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสม จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญรองรับสังคมผู้สูงวัย สร้างองค์ความรู้ เสริมเกราะป้องกัน ตลอดจนช่วยเสริมสร้างศักยภาพ พัฒนาผู้สูงวัย ให้กลายเป็นผู้สูงวัยที่มีพลังและคุณภาพ (Active Aging)” นายชัย กล่าว