In News
นายกฯร่ายยาวนโยบายแนวทางทำงบ68 ตั้งเป้าเศรษฐกิจไทย4ปีเติบโตเฉลี่ย5%
นนทบุรี-นายกฯ มอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณ ปี 68 ตั้งเป้าหมายเศรษฐกิจประเทศไทย 4 ปีจะต้องโตเฉลี่ย 5% เน้นเป้าหมายรัฐบาลทำให้คนไทยเข้าถึงแหล่งพลังงานราคาถูก สนับสนุนพลังงานสะอาด มุ่งสู่อนาคตสีเขียว ย้ำรัฐฯมีตัวชี้วัดชัดเจน ให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิมากขึ้น 3 เท่า ในเวลา 4 ปี เดินหน้าขยายตลาดส่งออก แนะใช้หลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”และมีเป้าสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท มุ่งให้ไทยเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทั้งเมืองหลักและเมืองรองนอกจากนี้ยังพร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ย้ำประเทศไทยมีความพร้อมทุกด้าน เป้าสำคัญคือมุ่งพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียว เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน หวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เน้นขยายตลาดต่างประเทศ ส่วนการผลักดัน Soft Power ให้กลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดคนทั่วโลกให้เข้ามาเที่ยว มาทำงาน และมาใช้ชีวิตในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นปลายทางของคนทั่วโลกและสิ่งที่รัฐบาลมุ่งให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มุ่งแก้ไขปัญหาสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน
วันนี้ (12 มกราคม 2567) เวลา 14.00 น. ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ชั้น 1 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยรัฐมนตรี รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจเข้าร่วม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วม Video Conference
นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตอนหนึ่งว่า จุดประสงค์ของการประชุมวันนี้ ขอมอบนโยบายและกรอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต่อเนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในช่วงการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา ได้เดินหน้าในการแก้ไขปัญหาของประชาชนและประเทศ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคงให้กับประชาชนทุกคน
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ทุกท่านทราบดีว่า รัฐบาลเข้ามาบริหารในช่วงที่ประเทศประสบความท้าทายในเรื่องความสามารถในการผลิตและการแข่งขัน ปัญหาการส่งออกชะลอตัวลง ภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่ที่มีความไม่แน่นอนสูง ทุกท่านทราบดี รัฐบาลเข้ามาบริหารในช่วงที่ประเทศประสบความท้าทายในเรื่องความสามารถในการผลิตและการแข่งขัน ปัญหาการส่งออกชะลอตัวลง ภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่ที่มีความไม่แน่นอนสูง การรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ ทั้งจากภัยพิบัติและมลพิษที่รุนแรงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาสวัสดิการภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น จนเป็นภาระการเงินการคลังของประเทศ มีกลุ่มเปราะบางที่ตกหล่น ภาระหนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชนพุ่งสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงขึ้น การจัดเก็บรายได้ของรัฐเทียบกับ GDP ลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราภาษีที่ยังขาดความเป็นธรรม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และยาเสพติด ที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า รายได้ต่อหัวของพี่น้องคนไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ บูรไน มาเลเซีย เราต่ำกว่าเขาตลอด อันดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศก็แทบไม่ขยับ แรงงานจำนวนมากอยู่ในภาคเกษตร มีผลิตภาพต่ำและประสบปัญหาไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน เข้าไม่ถึงระบบชลประทานและแหล่งน้ำ ครัวเรือนเกษตรติดกับดักหนี้ที่เกินศักยภาพที่จะชำระได้ รวมทั้งยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่า และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปีของทุกปี ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง และปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องการการแก้ไขอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ผ่านการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล จึงขอให้ทุกหน่วยงานยึดตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาเป็นหลัก นโยบายที่ดำเนินการภายใต้รัฐบาลนี้ จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนสบายใจได้ว่าภาษีของพวกเขาถูกใช้ในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ
นายกรัฐมนตรีเผยในด้านเศรษฐกิจ แม้ 4 เดือนที่ผ่านมาจะเป็นระยะเวลาที่ไม่นาน รัฐบาลก็ได้ดำเนินนโยบายหลายประการบนงบประมาณไปพลางก่อน และอีกหลายนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้ผลักดันโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ นโยบายที่สำคัญด้านเศรษฐกิจ จะครอบคลุม 8 กลุ่มย่อยด้วยกันได้แก่ 1) พลังงาน 2) เกษตร 3) ท่องเที่ยว 4) โครงสร้างพื้นฐาน 5) การดึงดูดการลงทุน 6)การทูตเชิงรุกและการค้าชายแดน 7) Soft Power และ 8) ค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป้าหมายยังชัดเจนเหมือนเดิม เศรษฐกิจประเทศไทย 4 ปีจะต้องโตเฉลี่ย 5% ให้ได้
“ทุกคนทราบว่าหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาลนี้คือการทำ Digital Wallet ให้สำเร็จ แม้ว่าในวันนี้ เราจะเดินหน้าออก พ.ร.บ. กู้เงินก็ตาม แต่ก็ขอให้ไม่ลืมที่จะตั้งงบประมาณเผื่อไว้ ในกรณีที่ต้องใช้พัฒนาและดำเนินโครงการด้วย แต่ขอให้ตั้งอย่างสมเหตุสมผล ในปีงบประมาณ 2568 การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม นโยบายทั้งหมดของรัฐบาลที่ตนเองกล่าวไปนั้น จะต้องอาศัยการทำงานบูรณาการกันเป็นอย่างมาก มีความเชื่อมโยงหลายส่วน การจัดทำงบประมาณ จะต้องขอให้สำนักงบประมาณช่วยคอยดูทั้งตัวชี้วัด งบประมาณที่ขอ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และต้องดูรายละเอียดเนื้อหาให้ถี่ถ้วนด้วยว่าตอบโจทย์ของรัฐบาลหรือไม่ ในปีงบประมาณ 68 จะเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากปี 67 โดยช่วงเวลาการทำงานจะทับซ้อนกัน จึงขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการ เพื่อผลักดันให้การจัดทำงบประมาณตอบโจทย์ความต้องการ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานสามารถจัดทำคำของบประมาณที่สอดคล้องกับจุดเน้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 142 ประเด็น สำนักงบประมาณจึงอยู่ระหว่างดำเนินการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อปรับปรุงปฏิทินงบประมาณ โดยขยายระยะเวลาการจัดส่งคำขอได้ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ต่อไป” นายกฯ ย้ำ
และมอบนโยบายด้านพลังงานว่า เป้าหมายของรัฐบาลนี้คือจะต้องทำให้คนไทยเข้าถึงแหล่งพลังงานทั้งไฟฟ้า น้ำมัน เชื้อเพลิงหุงต้ม ที่ราคาถูก และสนับสนุนพลังงานสะอาดให้มากขึ้น จะต้องดูโครงสร้างตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การลดการพึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล รับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ราคาต่ำ ยันปลายน้ำ เช่น การผลักดันอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในบ้านผ่านการทำ Net-metering ให้สำเร็จ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ เราจะหากลไกที่ทำให้ราคาค่าไฟถูกลง ในขณะที่เป็นไฟฟ้าที่สะอาดขึ้น เพื่อมุ่งหน้าไปสู่อนาคตสีเขียว
นายกฯ ย้ำ รัฐบาลมีตัวชี้วัดชัดเจน ให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิมากขึ้น 3 เท่า ในเวลา 4 ปี
นายกฯได้มอบนโยบายด้านการเกษตรว่า เป้าหมายด้านเกษตร รัฐบาลมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน จะทำให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิมากขึ้น 3 เท่า ใน 4 ปีนี้ ซึ่งต้องทำตั้งแต่ ดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ตลาด เงินทุน เทคโนโลยี และการแปรรูป ครบวงจร สำหรับพี่น้องเกษตรกร ในช่วงที่ผ่านมา ครม. ได้เห็นชอบการจ่ายเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยว ไร่ละ 1,000 บาท 4.68 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท กรอบวงเงินรวมกว่า 54,336 ล้านบาท ผ่านบัญชีธนาคาร ธ.ก.ส. และช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ตัดอ้อยสด ลด PM2.5 120 บาท/ตัน ซึ่งมีชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 140,000 ราย ทั้งนี้ ครม. ได้มีมติพักหนี้เกษตรกรที่มีหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท ตามมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย พร้อมสนับสนุนแหล่งเงินทุนและทรัพยากรที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพ และถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านการเงิน ให้สามารถบริหารจัดการหนี้สิน มีศักยภาพในการออมและ การลงทุนได้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
เรื่องของตลาดสินค้าเกษตร ช่วงที่ผ่านมาได้เดินหน้าเจรจาการค้า เพื่อเปิดตลาดใหม่ ๆ ให้กับพี่น้องเกษตรกรทุกกลุ่ม ทั้งพืช และปศุสัตว์ และได้ทราบมาว่าเราจะต้องให้ความสำคัญกับการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ด้วย แต่ในระยะยาว ขอให้นำหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ เพิ่มคุณภาพผลผลิต และลดต้นทุน การผลิตพัฒนาและทำธุรกิจผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปมูลค่าเพิ่มสูง เดินหน้าเปิดตลาดสินค้าเกษตรใหม่ ๆ ให้ได้ราคาดี ขอให้กระทรวงเกษตรฯ จัดงบประมาณและขบวนการทำงานในการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชในพื้นที่ไม่เหมาะสม หามาตรการหรือแรงจูงใจ ให้ประชาชนปลูกพืชที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุล มีประสิทธิภาพเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร อาทิ เช่น การสร้างฝายพาราซอยซีเมนต์ เป็นต้น รวมถึง การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจ สนับสนุนให้เกษตรมีที่ดินทำกิน นำที่ดินของรัฐไปสร้างประโยชน์ รวมถึงการแปลง สปก. ให้เป็นโฉนด ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ใหม่ ๆ ทำการเกษตรยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย ทั้งหมดนี้ เพื่อทำให้เกษตรกรเลี้ยงตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงระดับประเทศ
รัฐบาลตั้งเป้าสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท
นายเศรษฐา ยังได้มอบนโยบายด้านการท่องเที่ยวว่า เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ และรัฐบาลมีเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท มุ่งให้ไทยเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง เรื่องที่ดำเนินการไปแล้ว คือ วีซ่าฟรีนักท่องเที่ยวจีน/คาซัคสถาน/อินเดีย/ไต้หวัน และขยายเวลาสำหรับชาวรัสเซีย ซึ่งก็ทำให้เราก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยกว่า 24 ล้านคน แต่นั่นไม่ใช่ตัวชี้วัดเดียวที่เราต้องการเห็น เราต้องทำให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น และใช้จ่ายต่อหัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง กลุ่มลูกค้าสูงอายุ กลุ่มพำนักระยะยาว กลุ่ม Digital Nomad และต้องทำให้พวกเขาสามารถอยู่ได้อย่างถูกกฏหมาย การเดินทางเข้า-ออก จากประเทศ ต้องสะดวก มีการจัดทำ Fast Track Visa ให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย มีการเดินทางที่สะดวก
ในช่วงที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้ท่าอากาศยานต่าง ๆ เปิดให้นานขึ้น เช่น เปิดสนามบินเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา อีกเรื่องหนึ่งที่กำลังทดลองอยู่ คือการขยายเวลาปิดสถานบริการ ซึ่งปัจจุบันได้นำร่อง 5 พื้นที่ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี และอำเภอ เกาะสมุย ซึ่งจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจ ลงไปในชุมชนมากขึ้น ซึ่งยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและอาจต้องปรับแก้กฎหมายเพื่อขยายผลต่อในอีกหลายพื้นที่ ในปีนี้และปีถัด ๆ ไป ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องสนับสนุนการท่องเที่ยวอยู่ และขอให้ขยายผลไปยังเมืองรองมากขึ้นด้วย นำจุดเด่นของแต่ละพื้นที่มาใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น Hardware เช่น สถานที่ วัฒนธรรม อาหาร หรือเป็น Software ที่ตนใช้เรียกการจัดกิจกรรม Festival หรือ Event ต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็น Soft Power ของแต่ละพื้นที่ ต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจมากขึ้น ให้มีการใช้สถานที่จัดประชุม เป็นเจ้าภาพแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก ในประเทศไทยให้ได้
พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค
นายกฯมอบนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ทำให้ประชาชนมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่ง และการท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งระบบขนส่งสาธารณะ และสิ่งอำนวยความสะดวก บัตรโดยสารร่วม โดยขอให้ดูการพัฒนาที่เหมาะสมในระดับความต้องการของพื้นที่ และความต้องการของประเทศให้สอดคล้องกัน สนามบินของประเทศไทยเราจะยังต้องมีการปรับปรุง ต่อขยาย รวมถึงสร้างใหม่ในอีกหลายแห่ง โอนย้าย ถ่ายเท เพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นในอนาคต บริหารจัดการเที่ยวบินให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับนักเดินทางในแต่ละพื้นที่
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลพร้อมผลักดันทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคให้ได้ ประเทศไทยมีจุดแข็งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งพื้นที่ที่อยู่ใจกลางของภูมิภาค สภาพอากาศที่เป็นมิตร Facilities ต่าง ๆ ที่รองรับแรงงานทักษะสูงที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ ไม่มีเหตุผลใดที่ประเทศไทยไม่พร้อมจะเป็น Hub การบิน ในด้านการเชื่อมต่อทางราง ขอให้บูรณาการแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเข้ากับเส้นทางในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับจีนตอนใต้และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในแนวเส้นทางยุทธศาสตร์ขนส่งสินค้าหลัก พัฒนาระบบขนส่งทางรางเชื่อมระหว่างไทย สปป.ลาว และจีนที่จังหวัดหนองคาย พัฒนาร่องน้ำเศรษฐกิจแม่น้ำเจ้าพระยา น่าน ป่าสัก และอีกหนึ่งโครงการที่ขอให้ความสำคัญ คือโครงการ Landbridge ใช้จุดแข็งของสภาพภูมิศาสตร์ที่เชื่อมทั้งสองฝั่งของมหาสมุทร เปิดประตูการค้าสองฝั่งมหาสมุทรทางภาคใต้ ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและคมนาคมที่สำคัญ เสริมสร้างความเชื่อมโยงและ supply chain ในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเราจะเสริมความแข็งแกร่งของการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา และคาดว่าจะสร้างงาน 280,000 ตำแหน่ง คาด GDP โตขึ้น ปีละ 5.5% โครงการนี้มีประโยชน์ต่อประเทศมหาศาล โดยขอให้ทุกท่านช่วยกันสนับสนุนผลักดันไปด้วยกัน
รัฐบาลมุ่งพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียว
นายเศรษฐา ได้มอบนโยบายด้านการดึงดูดนักลงทุนและการค้ากับต่างประเทศ ว่า ภาคอุตสาหกรรมในอนาคตต่อจากนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายในการพัฒนา มีแหล่งพลังงานสีเขียว เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน มุ่งเน้นอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีอนาคต (next-generation automobiles) และเสริมสร้างระบบการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนให้เกิดการสร้างฐานการผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคส่วนต่าง ๆ โดยใช้มาตรการจูงใจทั้งทางด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี การให้เงินอุดหนุนสำหรับการซื้อยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องดูแลอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องให้ปรับเปลี่ยนไปสู่สายการผลิตของยานยนต์แห่งอนาคตได้ ซึ่งอาจรวมไปถึงลงทุนในการเป็นผู้นำยานยนต์ยุคถัด ๆ ไป เช่น ไฮโดรเจน เป็นต้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมแล้ว เราจะต้องขยายตลาดต่างประเทศให้กับนักลงทุนด้วย ประเทศไทยจะต้องมีการเจรจาการค้า ให้มีจำนวนประเทศที่มี FTA เพิ่มขึ้น เทียบเท่ากับประเทศในภูมิภาคให้ได้ การทูตเชิงรุกเป็นการทำงานในมิติใหม่ของรัฐบาลนี้ โดยเราจะส่งเสริมทั้งการค้าขาย การลงทุน การส่งออก การแลกเปลี่ยนความรู้ เพิ่มเติมไปจากบทบาทที่เกี่ยวข้องกับเกียรติภูมิศักดิ์ศรีและการช่วยเหลือคนไทยและธุรกิจไทย ดำเนินกิจกรรมการทูตอย่างสมดุล เปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ ๆ รวมถึงตลาดเดิมและประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง โดยในช่วงที่ผ่านมาก็ได้เปิดประตูการค้าชายแดน 4 ด้าน 4 ประเทศ เมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ซึ่งประเทศมาเลเซียก็ได้ช่วยเหลือแรงงานไทยและตัวประกันในอิสราเอล และเสริมสร้างความปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญในความร่วมมือและการต่างประเทศของไทย ในพื้นที่บริเวณชายแดนของประเทศไทย รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการขยายการค้าชายแดน นำมาซึ่งความมั่งคั่ง และจะพัฒนาไปสร้างความมั่นคงให้กับพื้นที่รอบ ๆ ข้างด้วย
รัฐบาลพร้อมผลักดันSoft Powerให้กลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดคนทั่วโลก
นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายด้าน Soft Power ว่า ยังคงเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลที่ผลักดันต่อ ที่ผ่านมาตนเองได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาผลักดัน Soft Power 11 ด้านด้วยกัน ได้แก่ เฟสติวัล ท่องเที่ยว อาหาร ศิลปะ ออกแบบ กีฬา ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์แฟชั่น และเกม ในปีนี้จะเดินหน้าการตั้งหน่วยงานที่มาสนับสนุนกิจกรรมที่เป็น Soft Power คือหน่วยงาน Thailand Creative Content Agency หรือที่รู้จักกันในนาม THACCA และเราจะเดินหน้านโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ซึ่งจะต้องครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ ที่ต้องมีการคัดเลือกคนที่จะมาทำการ Up-skill และ Re-skill ฝึกทักษะที่เกี่ยวข้อง โดยต้องทำงานบูรณาการกันหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ในระยะกลางน้ำ จะใช้กลไกต่าง ๆ ทำให้คนที่มีทักษะของแต่ละครอบครัว สามารถประกอบอาชีพได้ พัฒนาฝีมือให้โดดเด่นยิ่งขึ้น รวมถึงแก้ไขกฎหมายที่ทำให้สามารถส่งเสริมทั้ง 11 อุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น และในขั้นปลายน้ำ จะช่วยส่งเสริมการหาตลาดรองรับในการขายสินค้า ผลิตภัณฑ์ ทั้งในและต่างประเทศ ช่วยประชาสัมพันธ์ รวมถึงจัดงานจัดแสดงต่าง ๆ ผลักดันคนที่มีความสามารถให้โตไปไกลในระดับโลกให้ได้ อีกด้านหนึ่งที่โดดเด่น คือด้านเทศกาล รัฐบาลตั้งเป้าว่าประเทศไทยต้องเป็นผู้นำในด้าน Festival ของภูมิภาคให้ได้ ต้องมีการจัดแสดง จัดงานต่าง ๆ ที่คณะกรรมการซอฟต์เพาเวอร์จะผลักดันให้เกิดขึ้น เป็นทั้งการสร้างรายได้ และประชาสัมพันธ์ประเทศและการท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กัน ร่วมกันผลักดันมวยไทยไปทั่วโลก ส่งเสริมการส่งออก การตั้งค่ายมวยเพื่อฝึกซ้อม เพื่อออกกำลังกายในต่างประเทศ รวมไปถึงพัฒนากีฬาอื่นอย่างเป็นระบบ จุดเด่นที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา Soft Power จะกลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดคนทั่วโลกให้อยากเข้ามาเที่ยว มาทำงาน และมาใช้ชีวิตในประเทศไทย ทำให้เรากลายเป็นปลายทางของคนทั่วโลก ทั้งคนวัยทำงาน ที่จะมาพร้อมกับความรู้ ความสามารถ เป็นคนที่จะช่วยกันสร้างเศรษฐกิจ และคนวัยสูงอายุที่จะเข้ามาจับจ่ายใช้สอยซื้อของจากร้านค้าในชุมชนของพวกเราได้ ยังมีอีกหลายนโยบายด้าน Soft Power ที่ทางคณะกรรมการจะเป็นผู้ประสานงานหลัก ขอให้ทางสำนักงบประมาณทำงานร่วมกับคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม
“จากนโยบายด้านเศรษฐกิจทั้งหมด ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน การต่างประเทศ Soft Power โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อีกส่วนหนึ่งที่ผมอยากผลักดัน คือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สำเร็จ ผมมั่นใจว่าคนไทยมีฝีมือ มีทักษะ และพร้อมจะเรียนรู้ เป้าหมายอย่างชัดเจน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 โดยปีนี้จะต้องทำค่าแรงขั้นต่ำให้มากกว่า 400 บาทให้ได้ ด้วยทิศทางนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ มั่นใจว่าเราจะทำได้สำเร็จอย่างแน่นอน” นายกฯ ย้ำ
นายกฯมอบนโยบายทางสังคม มุ่งให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี
นายเศรษฐา กล่าวถึงนโยบายด้านสังคม ว่า ประกอบด้วย 7 กลุ่มนโยบาย ได้แก่ 1) การแก้หนี้ทั้งระบบ 2) การพัฒนาการศึกษา 3) สิทธิในที่ดินทำกิน 4) ยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล 5) สาธารณสุข 6) ความเสมอภาคเท่าเทียม และ 7) สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของประชาชน ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้เริ่มเดินหน้าดำเนินการบนงบไปพลางก่อนบ้างแล้ว ขอเน้นย้ำว่าทั้ง 8 กลุ่มนี้ก็จะยังเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลจะเดินหน้าทำต่อในงบประมาณปี พ.ศ. 2568
เรื่องการแก้หนี้ทั้งระบบ รัฐบาลได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบ ด้วยการจัดหาสินเชื่อที่เป็นธรรมและเหมาะสม และให้ “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” เป็นวาระแห่งชาติ ดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม แก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย จัดการการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง มีการบูรณาการทำงานของภาครัฐทั้งบริหาร ตำรวจ และปกครอง เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาหนี้ให้ลืมตาหายใจได้ และกลับมาเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง ในระยะกลางและยาว อยากให้เรื่องของหนี้สินต้องมีการแก้ไขให้สำเร็จลุล่วง รวมถึงต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงหนี้สินที่เป็นธรรมได้มากขึ้น หนี้ที่ดี ที่ใช้ในการประกอบอาชีพจะช่วยสร้างความมั่งคั่ง ช่วยขยายโอกาสให้กับประชาชนได้ การดำเนินงานแก้ไขหนี้ทั้งระบบก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต
เรื่องการศึกษา งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาได้รับนั้นมีจำนวนเยอะมาโดยตลอด แต่คุณภาพของเราสะท้อนจากผลคะแนน PISA และอันดับมหาวิทยาลัย ในประเทศไทยนั้นไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจนัก ขอให้ช่วยกันวางแผน และตัวชี้วัดให้ชัดว่าจะทำอย่างไรให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ซึ่งต้องครอบคลุมทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขั้นวิชาชีพ จนถึงระดับอุดมศึกษา ต้องจัดการเรียนรู้แนวใหม่ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานให้มีทักษะดิจิทัลและมีสมรรถนะที่จำเป็น ยกระดับอาชีวศึกษาให้มีการเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการ และสถาบันอุดมศึกษาสายปฏิบัติการ ปรับปรุงระบบวัดผลและประเมินผลให้มีความหลากหลาย รับรองมาตรฐานวิชาชีพ จัดการศึกษาที่หลากหลายตามความต้องการเฉพาะบุคคล สนับสนุนการวิจัยทั้งวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) งานวิจัยแนวหน้า (Frontier Research) และงานวิจัยอื่น ๆ อย่างมีเป้าหมาย พัฒนาครูที่มีความพร้อมด้านวิชาการและทักษะการจัดการเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ต่าง ๆ พร้อมทั้งปรับบทบาทของครู ลดกระบวนการทำงานที่กินเวลาสอนหนังสือ และปรับปรุงวิธีการประเมินวิทยฐานะ โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ นักเรียนต้องได้รับอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อวัย เข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ สร้างสังคมที่รักการอ่าน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดูแลทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจอย่างเหมาะสม รวมถึงมีโอกาสในงานฝึกงาน หารายได้ขณะที่เรียน
เรื่องสิทธิในการทำกินบนที่ดิน รัฐบาลจะยังคงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ยังไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร เร่งตรวจสอบและออกโฉนดที่ดิน เพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินทำกินเพื่อสร้างอาชีพ มีรายได้สูงขึ้น มีความมั่นคงในชีวิต
เรื่องปัญหายาเสพติด รัฐบาลนี้จะปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย โดยใช้มาตรการปราบปรามทางกฎหมาย ยึดทรัพย์ และดำเนินการเจรจาทางการทูตกับประเทศตามแนวชายแดน เพื่อควบคุมการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศควบคู่กับการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในเด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน และประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยให้ความสำคัญกับการบำบัดและรักษาผู้เสพอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพื่อสามารถนำทุกคนกลับสู่ครอบครัว สังคม เป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป
เรื่องสาธารณสุข คนไทยจะต้องเข้าถึงสาธารณสุขที่ดีขึ้นทั้งประเทศ รัฐบาลจะต้องสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยกระดับบริการทางการแพทย์บนฐานนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง การแพทย์แม่นยำ ส่งเสริมให้ประเทศไทยมี Universal Healthcare Coverage หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพระดับโลก ส่งเสริมกลไกการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันโรค กระตุ้นให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรค เช่น การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การสูบบุหรี่ การบริโภคที่ไม่เหมาะสม การไม่ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ดูแลค่าบริการทางการแพทย์ พัฒนาระบบบริหารการจ่ายค่าบริการของระบบประกันสุขภาพให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ตามความเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการป้องกันโรคล่วงหน้า เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านโดส การคัดกรองโรคไว้แต่เนิ่น ๆ เช่น มะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในหญิงไทย การคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับ ฯลฯ ซึ่งหากตรวจพบก่อนจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของพี่น้องประชาชน และลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ การจัดรถโมบายเคลื่อนที่ไว้บริการพี่น้องประชาชน เป็นการพาหมอไปหาประชาชนในพื้นที่ที่ประชาชนยังลำบากในการเดินทางมาโรงพยาบาล โดยจะจัดรถเคลื่อนที่ลักษณะนี้ไปทุกจังหวัด เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างครอบคลุม การนำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อบริการประชาชน ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การเชื่อมโยงข้อมูลพื้นฐานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านความเสมอภาค เท่าเทียม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยการสร้างความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่มด้วยสวัสดิการโดยรัฐ เพิ่มประสิทธิภาพของกลไกการคัดกรอง ปรับปรุงคุณภาพของนโยบายสวัสดิการที่กลุ่มคนรายได้น้อยได้รับ พร้อมกับการลดการตกหล่นจากการเข้าถึงสวัสดิการ ทั้งนี้ ต้องบริหารจัดการไม่ให้เป็นภาระการเงินการคลังของประเทศ มากเกินไป จนไม่มีงบประมาณไปพัฒนาในส่วนอื่น ๆ ใช้ประโยชน์จากกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นต้น ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการโหวตวาระที่หนึ่งด้วยคะแนนท่วมท้น นับเป็นอีกก้าวของความสำเร็จที่รัฐบาลได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น
ด้านสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนจะต้องได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในตลอดสมัยของรัฐบาลนี้ ทั้งรถไฟฟ้า น้ำประปา และสิ่งแวดล้อม อากาศสะอาด ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของประชาชน รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำ “20 บาทตลอดสาย” ให้สำเร็จ ในปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีแดง ก็เหลือ 20 บาทแล้ว ทางกระทรวงคมนาคมก็จะเดินหน้าพัฒนาระบบ Feeder ที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทั้งสองสายให้มากขึ้น และจะต้องเดินหน้าทำส่วนอื่นให้สำเร็จ เพื่อทำให้ 20 บาทตลอดสายเกิดขึ้นได้จริงสำหรับประชาชน
รวมถึงพัฒนาระบบน้ำประปาให้ประชาชนมีน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคและบริโภคอย่างทั่วถึง บริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร พัฒนาจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบ ฟื้นฟูระบบชลประทานและการกระจายน้ำในพื้นที่เขตชลประทาน ขยายพื้นที่ชลประทานให้ครบ 40 ล้านไร่ พร้อมทั้งจัดการแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานและแหล่งน้ำชุมชนอย่างเหมาะสม แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM 2.5 ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ มีการกำหนดพื้นที่แบบมุ่งเป้า โดยระบุพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตรที่ไฟไหม้ซ้ำซาก สร้างกลไกการทำงานให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ต้องทำให้กลไกที่วางไว้ขับเคลื่อนได้จริง สนับสนุนให้ไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ (Carbon Neutrality) ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและการให้บริการด้วยต้นทุนต่ำ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิ??