In Bangkok
กทม.เน้นย้ำมาตรการป้องกันส่วนบุคคล รับวัคซีนประจำปีป้องกันโควิด19
กรุงเทพฯ-นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1-11 ม.ค.67 มีผู้ป่วยด้วยโรคโควิด 19 สะสมจำนวน 9,843 คน เป็นคนไทย 9,630 คน ต่างชาติ 213 คน ส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก สำหรับความคืบหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สนอ.ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ทุกวันพุธ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. รวมทั้งได้ประสานความร่วมมือให้อาสาสมัครสาธารณสุขและพยาบาลเยี่ยมบ้าน สำรวจผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีนประจำปี หรือยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนดให้มารับวัคซีนโดยเร็ว โดยแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นการฉีดวัคซีนประจำปี ปีละ 1 ครั้ง แนะนำให้ฉีดก่อนฤดูฝน ตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป เนื่องจากคาดว่า เชื้อจะระบาดมากในช่วงฤดูฝน โดยใช้วัคซีนชนิดใด รุ่นใดก็ได้โดยไม่ต้องนับว่า เป็นเข็มที่เท่าใด เว้นระยะห่างจากเข็มสุดท้าย หรือจากประวัติการติดเชื้อครั้งสุดท้ายประมาณ 3 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง (กลุ่ม 608 และเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี) กลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสแพร่เชื้อ (พนักงานบริการ หรือผู้ที่มีอาชีพต้องสัมผัสคนจำนวนมาก หรืออยู่ในสถานที่แออัด) กลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า เพื่อลดอาการป่วยหนัก เสียชีวิต และรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศก่อนการระบาดของโควิด 19 ตามฤดูกาล ส่วนประชาชนทั่วไปที่ต้องการลดความเสี่ยงการติดเชื้อสามารถรับวัคซีนได้เช่นเดียวกันตามความสมัครใจ ทั้งนี้ มาตรการส่วนบุคคลยังเป็นปัจจัยหลักในการป้องกันโรคโควิด 19 ได้แก่ การล้างมือบ่อย ๆ และการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจ อยู่ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กเล็ก และเมื่ออยู่ในพื้นที่ หรือกิจกรรมเสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อโควิด 19 ตลอดจนป้องกันการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมความพร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข วัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น รวมถึงระบบการส่งต่อ หากประชาชนตรวจหาเชื้อโควิด 19 (ATK) พบว่า ติดเชื้อโควิด (SARS-CoV-2) จะแบ่งการรักษาเป็นกลุ่มที่ 1 ไม่มีอาการ รักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือรับยาแล้วกลับไปพักรักษาตัวในที่พักอาศัย ไม่ต้องรับประทานยาต้านไวรัส ปฏิบัติตามมาตรการ DMH ประกอบด้วย Distancing เว้นระยะห่างระหว่างกัน Mask Wearing สวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และ Hand Washing ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่มีอาการ กลุ่มที่ 2 มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง รักษาแบบผู้ป่วยนอกตามอาการและดุลยพินิจของแพทย์ ปฏิบัติตามมาตรการ DMH อย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่มีอาการโดยประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ติดเชื้อโควิด 19 สามารถรับบริการผ่าน 4 แอปพลิเคชันประกอบด้วย (1) แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) ให้บริการโดยบริษัท คลิกนิก เฮลท์จำกัด https://forms.gle/hfo2Wr9jdvybn8d57 รับผู้ป่วยโควิด 19 อาการสีเขียวและเหลือง รวมถึงกลุ่ม 608 ให้บริการทั่วประเทศ (2) Totale Telemed (โททอลเล่ เทเลเมด) โดยบริษัท โททอลเล่เทเลเมด https://lin.ee/a1lHjXZn รับผู้ป่วยโควิด 19 ทุกประเภท เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์) ให้บริการทั่วประเทศ (3) แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดยบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด https://form.typeform.com/to/cNKqNz3p รับผู้ป่วยโควิด 19 เฉพาะกลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) ให้บริการทั่วประเทศ และ (4) แอปพลิเคชัน Saluber MD โดยบริษัท ซาลูเบอร์เอ็มดี www.telemed.salubermdthai.com รับผู้ป่วยโควิด 19 เฉพาะกลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) ให้บริการเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 จังหวัด ส่วนผู้มีสิทธิเบิกราชการ หรือประกันสังคม ให้ไปรับยาได้ที่สถานพยาบาลที่มีสิทธิอยู่ ซึ่งนอกจากพบแพทย์ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้ว ยังมีการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยด้วย
สำหรับกลุ่มที่ 3 มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง หรือกลุ่มที่มีปอดอักเสบ แต่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน พิจารณาตามอาการของผู้ป่วยโดยแพทย์ อาจรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือรับไว้ในโรงพยาบาล ให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด และกลุ่มที่ 4 กลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบ ต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน รับรักษาไว้ในโรงพยาบาล ให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด ร่วมกับยาแก้อักเสบ ผู้ติดเชื้อโควิด 19 แบบไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง ในระยะ 5 วัน นับจากเริ่มมีอาการ ควรงดออกจากบ้านไปยังชุมชน หากจะออกไปให้ไปเท่าที่จำเป็น และให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMH เมื่อพ้นระยะ 5 วันแรกแล้ว สามารถออกไปในชุมชนได้มากขึ้น แต่ควรปฏิบัติตามมาตรการ DMH ต่อไปอีก 5 วัน รวม 10 วัน หลังจากนั้นสามารถประกอบกิจกรรมทางสังคมและทำงานได้ตามปกติตามนิวนอร์มอล ระหว่างนี้หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร ให้ติดต่อสถานพยาบาล หากต้องเดินทางมาสถานพยาบาล แนะนําให้สวมหน้ากากอนามัยระหว่างเดินทางตลอดเวลา หลังจากครบกําหนดการกักตัวตามระยะเวลาดังกล่าวแล้ว