In Bangkok
กทม.เตรียมรองรับดูแลรักษาผู้ป่วย3โรค ที่คาดการณ์ระบาดและ12โรคเฝ้าระวัง
กรุงเทพฯ-นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดและการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จากโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่าง ๆ ว่า สนอ.คาดการณ์สถานการณ์ปี 2567 มีโรคที่จะระบาด 3 โรค ได้แก่ (1) โรคโควิด 19 สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอน (2) โรคไข้หวัดใหญ่ มักเริ่มระบาดเดือน พ.ค.ป้องกันได้โดยฉีดวัคซีนปีละ 1 ครั้ง ฉีดพร้อมวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 และ (3) โรคไข้เลือดออก คาดในปี 2567 จะพบผู้ติดเชื้อสูงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เป็นการระบาดต่อเนื่อง 2 ปี ซึ่งโรคไข้เลือดออกจะพบการระบาดได้ตลอดทั้งปี โดยช่วงที่ระบาดสูงสุดคือ ช่วงฤดูฝนในเดือน ส.ค.-พ.ย. และจากข้อมูลพบว่า กลุ่มที่เสียชีวิตเป็นกลุ่มผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเข้ารับการรักษาช้าและเกิดในกลุ่มที่ติดเชื้อครั้งที่ 2 ซึ่งอาการจะรุนแรงกว่าการติดเชื้อครั้งแรกและมีโรคประจำตัวร่วม
สำหรับ 12 โรคที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ (1) โรคอุจจาระร่วง หรืออาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในเด็กนักเรียนในโรงเรียน ซึ่งปีที่ผ่านมามีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียนหลายแห่ง (2) วัณโรค จากการคาดการณ์พบว่า ในกรุงเทพฯ มีผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 10,000 ราย/ปี และเนื่องจากต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน ผู้ป่วยอาจรับยาไม่ครบและเกิดเป็นวัณโรคดื้อยาได้ (3) โรคมือเท้าปาก มักพบในเด็กเล็กในโรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็กช่วงเปิดภาคเรียน (4) โรคเอชไอวี/เอดส์ ปี 2567 คาดว่า จะพบผู้ป่วยรายใหม่ 867 ราย เสียชีวิต 1,073 ราย (5) โรคซิฟิลิส พบในกลุ่มเยาวชนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องมา 3-4 ปีแล้ว และจะยังคงพบมากในปีนี้ (6) โรคหนองใน มีแนวโน้มลดลง แต่ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศและใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ (7) โรคสุกใส (8) โรคชิคุนกุนยา ซึ่งปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยในกรุงเทพฯ 1,389 ราย และในปี 2567 มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยมากขึ้น โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงกัด (9) โรคไวรัสซิกา ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยในกรุงเทพฯ 157 ราย โรคนี้เป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์และมีผลต่อทารกในครรภ์ ทำให้ทารกมีศีรษะเล็กและมีปัญหาต่อสติปัญญาและพัฒนาการได้ (10) โรคฝีดาษลิง คาดจะพบผู้ป่วยต่อเนื่อง แม้จำนวนผู้ป่วยจะไม่มาก แต่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนใหญ่จะติดเชื้อในกลุ่มชายรักชาย พบการติดเชื้อสูงสุดช่วงหลังจากเดือน มิ.ย.ซึ่งเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) (11) โรคพิษสุนัขบ้า แม้ในกรุงเทพฯ จะยังไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าในคนมากว่า 6 ปีแล้ว แต่ปีที่ผ่านมาพบโรคดังกล่าวในสุนัขค่อนข้างมาก จึงยังต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นและใกล้ชิด และ (12) โรคตาแดง ในปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 3,208 ราย เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายในสถานที่แออัด เช่น เรือนจำ ค่ายทหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ได้เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยใน 3 โรคที่คาดการณ์จะระบาด และ 12 โรคที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเตรียมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ยารักษาโรค วัคซีน และทีมสอบสวนควบคุมโรคหากมีการระบาด ส่วนประชาชนควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้ติดเชื้อโรคต่าง ๆ โดยการรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เก่าเก็บค้างคืน พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายมีความกระฉับกระเฉง ไม่ง่วง และควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อหลีกเลี่ยงโรคติดต่อทางเดินหายใจ