In News

มท.1ถก3องค์กรปราบปรามการทุจริตไทย เข้มตรวจสอบทุจริตพนักงานส่วนท้องถิ่น



กรุงเทพฯ-มท.1 นั่งหัวโต๊ะหารือร่วม ป.ป.ช. - ป.ป.ท. - บก. ป.ป.ป กำหนดแนวทางป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบพนักงานส่วนท้องถิ่น เน้นย้ำ ยึดถือ"ระบบคุณธรรม" เข้มงวดในทุกกระบวนการจัดสอบ พร้อมกำชับทุกส่วนยกระดับมาตรการความโปร่งใสและเที่ยงธรรมในการสอบบรรจุข้าราชการทุกระดับ เพื่อคัดเลือกคนดี คนเก่ง มีความรู้คู่คุณธรรม มาเป็นข้าราชการรับใช้ประชาชน

วันนี้ (17 ม.ค. 67) เวลา 13.30 น ที่ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือกำหนดแนวทางในการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ปี 2567 โดยมี นางวาธินี สุริยวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายพุฒิพงษ์ เลิศสถิตย์ ที่ปรึกษาภารกิจด้านกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ท. พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการกองบังคับการป้องกันและปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บก.ป.ป.ป.) นางชลิตา โชติยกุล ประธานคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผล คณะกรรมการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ร่วมหารือ โอกาสนี้ นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายพรพจน์ เพ็ญภาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มาร่วมประชุมหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริต เพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ปี 2567 อันมีที่มาสืบเนื่องมาจากกระทรวงมหาดไทยได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตในกระบวนการจัดสอบท้องถิ่นที่อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือมีมูลเหตุที่อาจคาดว่าเกิดขึ้นได้

"กระทรวงมหาดไทยไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว และขอยืนยันกับทุกท่านว่าเป็นสิ่งที่เราเข้มงวดและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับสิ่งที่เรียกว่า "ระบบคุณธรรม" ที่ข้าราชการมหาดไทยทุกคนยึดถืออยู่ ซึ่งการสอบบรรจุพนักงานส่วนท้องถิ่นมีผู้สมัครจำนวนมากจากทั่วประเทศ หากมีการทุจริตจะเป็นเงินจำนวนมหาศาล การรับเรียกเงินค่าตอบแทนเหล่านี้จึงเป็นเรื่องอุกอาจมาก และไม่ได้เกิดจากข้าราชการมหาดไทยอย่างแน่นอน เพราะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยควบคุมในทุกกระบวนการจัดสอบอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว หากมีการทุจริตต้องรับรู้และรับทราบ และถึงแม้ว่า "มีควันก็อาจจะมีไฟ" โดยต้องคำนึงถึงผู้ที่อาจแอบอ้างจากบุคคลภายนอก เช่นอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกข้อสอบหรือมีอำนาจรับเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นการแอบอ้างหลอกลวงที่ไม่ได้แตกต่างจากแก๊งคอลเซนเตอร์ในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อเป็นการยืนยันว่าในฐานะข้าราชการ เราทุกคนไม่ได้ยินดีกับสิ่งเหล่านี้ และเราจะใช้ระบบคุณธรรมในการสอบบรรจุรับราชการทุกระดับ" นายอนุทินฯ กล่าวในช่วงต้น

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า เพื่อให้การสอบแข่งขันเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีความยุติธรรม และเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) และคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ร่วมกันประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ และขอเน้นย้ำนโยบายว่ากระบวนการสอบแข่งขันจะต้องโปร่งใส ไร้ทุจริต ซึ่งมหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหน่วยงานในการจัดสอบแข่งขัน ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและรัดกุม เพื่อป้องกันมิให้ข้อสอบและคำตอบรั่วไหลในทุกขั้นตอน หากปรากฏหลักฐานว่ามีการทุจริตที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดสอบ มหาวิทยาลัยต้องถูกบอกเลิกสัญญา และต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย ตลอดจนมีมาตรการเน้นย้ำผู้สมัครสอบแข่งขันให้ความร่วมมือ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการสมัครเข้าสอบแข่งขัน หากปรากฏหลักฐานว่ามีการสมยอมให้มีการเรียกรับเงิน เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้เป็นผู้สอบแข่งขันได้ ต้องถูกปรับให้ตก และถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้สมัครสอบแข่งขันเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ไปตลอดชีวิต รวมทั้งต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา อีกด้วย รวมถึงกำชับข้าราชการ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ห้ามมิให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในทางใดๆ อันจะส่งผลให้การสอบแข่งขันดังกล่าวนี้มีการทุจริต หรือมีการเรียกรับเงินเกิดขึ้น หากปรากฏหลักฐานว่ามีการกระทำดังกล่าวต้องถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง

"ตนมั่นใจว่าผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงมหาดไทย จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตในการสอบ และขอย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ และจะปฏิบัติอย่างสุจริตโปร่งใสและเป็นธรรม จึงขอยืนยันในเจตนารมณ์อย่างชัดแจ้งว่าจะไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับการสอบของกระทรวงมหาดไทยในทุกระดับ ซึ่งสิ่งที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นในการสอบครั้งนี้ คือการยกระดับการกำหนดขอบเขตและมาตรฐานของจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) ของกระบวนการจัดสอบในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ก่อนสอบ ระหว่างสอบ และหลังสอบอย่างเข้มงวด เป็นธรรมกับทุกคนอย่างสูงสุด จึงขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือและเสียสละเวลามาร่วมประชุมวันนี้ เพื่อให้การสอบบรรจุบุคคลเข้ารับราชการของท้องถิ่นครั้งนี้และครั้งต่อไป เป็นไปด้วยความโปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรม ทำให้การคัดเลือกข้าราชการผู้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ได้คนดี มีความสามารถ และมีใจอุทิศเพื่อประชาชน" นายอนุทินฯ กล่าวเพิ่มเติม

นางวาธินี สุริยวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เป็นที่น่าชื่นชมยินดีที่กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นให้การสอบเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างสุจริต เพราะการจัดสอบทุกครั้งอาจมีเรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตเกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งจากที่สำนักงาน ป.ป.ช. เคยพบกรณีการทุจริตในการสอบ ไม่ว่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนร่วมกับบุคคลภายนอก เช่น กรณีข้อสอบรั่ว หรือกรณีอื่น ๆ ที่มีกระบวนการออกข้อสอบจากหน่วยงานภายนอก รวมถึงมีบุคคลภายนอกแอบอ้างว่าสามารถให้การช่วยเหลือในการสอบ จึงขอเสนอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้ประชาสัมพันธ์ไปยังทุกภาคส่วน นอกเหนือจากบุคคลภายในที่เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานแล้ว ต้องรวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน ผู้สมัครสอบ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการสมัคร โดยระบุเน้นย้ำแนวทางและข้อกฎหมายที่ชัดเจน รวมถึงบทลงโทษที่เกิดจากการทุจริตในกระบวนการสอบ เพื่อป้องกันการทุจริตทั้งจากภายในและภายนอก หากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น

นายพุฒิพงษ์ เลิศสถิตย์ ที่ปรึกษาภารกิจด้านกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ท. กล่าวว่า การสอบท้องถิ่นเป็นการสอบที่มีผู้สมัครจำนวนมาก ทำให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายฝ่าย การดำเนินการตามแผนอย่างเข้มงวดของกระทรวงมหาดไทยจึงเป็นส่วนสำคัญ ตั้งแต่กระบวนการก่อนสอบ ขณะสอบ และหลังสอบ จึงอยากให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น รอบคอบ และรัดกุม รวมถึงมีมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนมีแผนจัดการความเสี่ยงรองรับ เพื่อปิดจุดอ่อนหรืออุดช่องว่างในการสอบของคนจำนวนมากได้ อีกทั้งยังต้องกำกับดูแลข้าราชการเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้รู้และตระหนักเกี่ยวกับความโปร่งใส มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ว่าหากกระทำผิดต้องได้รับโทษทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยร้ายแรง และนอกจากนี้ หากมีข้อร้องเรียน การทุจริตจากภายนอกเกิดขึ้น กระทรวงมหาดไทยต้องแจ้ง ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ท. มีศูนย์ปฏิบัติการที่สามารถรับเรื่องและตรวจสอบการทุจริต ซึ่งเราจะติดตามเร่งรัดผู้กระทำความผิดมารับผิดชอบอย่างเข้มข้นและจริงจัง ซึ่งวันนี้ สำนักงาน ป.ป.ท. เรามีความยินดีที่ได้มาร่วมเป็นคณะทำงานและให้ความเห็นให้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้การดำเนินการสอบข้าราชการได้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการกองบังคับการป้องกันและปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บก.ป.ป.ป.) กล่าวว่า การจัดสอบท้องถิ่นทั่วประเทศ เราต้องมุ่งเน้นการป้องกันและปราบปรามทุจริต เริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่กระบวนการร่าง TOR ที่ต้องมีความชัดเจนและเข้มงวด ซึ่งการทุจริตในการสอบท้องถิ่นไม่ต่างจากการทุจริตสอบข้าราชการทั่วไป ซึ่งบางกรณีที่เคยเกิดขึ้นอาจมีแผนประทุษกรรมที่ผู้ทุจริตทำ อาจสืบสาวพบเจอหลังจากสอบเสร็จไปแล้ว บางรายได้บรรจุไปแล้ว ซึ่งบางกรณีทุจริตอาจเกิดจากหน่วยงานภายนอกหรือภาคเอกชน ซึ่งเราต้องกำหนดให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด