EDU Research & ESG
'ม.กาฬสินธุ์จับมือม.กว่างซีจีนและบพท.' ร่วมเดินหน้าแก้จนคนอีสานแบบยั่งยืน
กาฬสินธุ์-มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยกว่างซี สาธารณรัฐประชาชนจีน และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแก้ไขปัญหาความยากจนระหว่างไทย-สาธารณรัฐประชาชนชนจีน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
วันที่ 17 มกราคม 2567 ที่ห้องประชุมพยับหมอก ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดีและบริหารสินทรัพย์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการบริหาร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นประธานเปิดงานการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแก้ไขปัญหาความยากจนระหว่างไทย-จีน โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ รศ.จิรพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ผศ.ดร.วิชยุทธ จันทะรี รองอธิการบดี ม.กาฬสินธุ์ มร.Xiao Jian Zhuang รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกว่างซี สาธารณรัฐประชาชนชนจีน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) พร้อมด้วยเลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ผู้บริหาร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จากสถาบันอุดมศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิคณาจารย์ และนักวิจัย ร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง
โดยก่อนเปิดงานได้มีการฉายเปิดวีดีทัศน์แนะนำ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งผลผลิตทางการเกษตร แหล่งท่องเที่ยว อาชีพ รายได้ ศิลปวัฒนธรรม และบทบาทหน้าที่ บริบท และผลงานของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ให้ผู้ร่วมงานได้ทำความรู้จักและชื่นชม ขณะที่คณาจารย์ นักศึกษา และกลุ่มอาชีพต่างๆจากหลายจังหวัด ได้นำผลผลิต และผลิตภัณฑ์ตางๆที่เกิดจากผลสัมฤทธิ์ มาจัดบูธแสดงภายในงานเป็นจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก อบอุ่น ประทับใจ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการบริหาร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า ความยากจนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มานาน ประเทศไทยถูกระบุว่ามีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลำดับต้นของโลก หน่วยงานรัฐเพียงลำพังไม่อาจรองรับภารกิจของการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม “ขจัดความยากจนและยกระดับฐานะทางสังคม” จึงได้วางหมุดหมายให้สถาบันการศึกษาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำรายครัวเรือน โดยใช้โมเดลแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศจีน องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ภาคครัวเรือนต่ำที่สุด จากข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคนปี 2562 ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา
ทั้งนี้จากการขับเคลื่อนบนแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด ระหว่าง ปี 2563-2566 สามารถสร้างกระบวนการค้นหาและสอบทานข้อมูล ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของกลไกภาคีความร่วมมือ เพื่อขจัดปัญหาความยากจนระดับจังหวัด และนำมาสู่การสร้างระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนแบบชี้เป้าระดับจังหวัด ที่ครอบคลุมทุน 5 มิติ ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนเศรษฐกิจ ทุนธรรมชาติ ทุนกายภาพ และทุนสังคม ที่สามารถวิเคราะห์ให้เห็นขนาดปัญหาและฐานทุนครัวเรือนยากจน ระดับความยากจนครัวเรือน เพื่อช่วยออกแบบกลยุทธ์การแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานะความยากจนรายครัวเรือน จัดทำระบบส่งต่อความช่วยเหลือ สร้างโมเดลแก้จนระดับพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตคนจน กลุ่มเป้าหมายให้มีทักษะอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น และเชื่อมโยงงานวิจัยเข้าสู่แผนระดับจังหวัด และแผนท้องถิ่นต่อไป
ด้านนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแก้ไขปัญหาความยากจนระหว่างไทย-สาธารณรัฐประชาชนชนจีนในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้แทนจากไทยและจีนจะได้มีโอกาสในแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งองค์ความรู้ทางวิชาการ และปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจน และยังเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคณะวิจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือและขยายผลองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน