In Bangkok

'จักกพันธุ์งลงสุ่มวัดฝุ่นจิ๋วโครงการก่อสร้าง Nue District R9และดูคัดแยกขยะ



กรุงเทพฯ-สุ่มวัดฝุ่นจิ๋วโครงการ Nue District R9 ทดสอบระบบชำระค่าบัตรประชาชนผ่าน QR Code ชมต้นแบบคัดแยกขยะเซ็นทรัลพระราม 9 ส่องสวนป่าใต้ทางด่วนพระราม 9 พร้อมจัดระเบียบผู้ค้าเขตห้วยขวาง ยกเลิก 10 แห่ง รวบจุด 2 แห่ง 

(17 ม.ค.67) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตห้วยขวาง ประกอบด้วย 

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ Nue District R9 : นิว ดิสทริค อาร์ 9 ถนนพระราม 9 ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารชุดเพื่อพักอาศัยและการพาณิชย์ ความสูง 33 ชั้น 1 อาคาร และความสูง 41 ชั้น 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 ล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ ตรวจวัดควันดำรถบรรทุกตามรอบที่กำหนด ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 นอกจากนี้ เขตฯ ได้ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทอู่พ่นสียานยนต์ 16 แห่ง ประเภทโรงงานที่มีการใช้หม้อไอน้ำ 1 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 14 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 

ติดตามการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตห้วยขวาง เยี่ยมชมการทดสอบระบบการรับชำระค่าธรรมเนียมบัตรประจำตัวประชาชนผ่านระบบ QR Code พร้อมทั้งสอบถามถึงภาพรวมของระยะเวลาในการให้บริการประชาชน ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้งาน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า โดยได้ให้คำแนะนำและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการ 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 9 มีประชาชนมาใช้บริการ 3,000 คนต่อวัน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล หน่วยงานคัดแยกขยะรีไซเคิลแต่ละประเภท และบริจาคให้กับองค์กรภาครัฐนำไปใช้ประโยชน์ 2.ขยะอินทรีย์ หน่วยงานคัดแยกขยะและนำไปใส่ในถังหรือภาชนะที่จัดเตรียมไว้ เพื่อให้เกษตรกรมารับนำไปใช้ประโยชน์ 3.ขยะอันตราย ร้านค้าประสานงานกับบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการจัดเก็บเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี 4.ขยะทั่วไป หน่วยงานคัดแยกขยะและประสานเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะเดือนธันวาคม 2566 ดังนี้ ขยะทั่วไป 298,200 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล 46,115 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ 117,905 กิโลกรัม/เดือน 

สำรวจสวน 15 นาที สวนป่าใต้ทางด่วนพระราม 9 ตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1.สวนราษฎร์บำเพ็ญ พื้นที่ 1 งาน 20 ตารางวา 2.สวนสุขภาพห้วยขวาง ถนนเทียนร่วมมิตร พื้นที่ 4 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา 3.สวนพรรณภิรมย์ พื้นที่ 13 ไร่ 25 ตารางวา 4.สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์ พื้นที่ 9 ไร่ 38 ตารางวา 5.สวนหย่อมหลังไปรษณีย์ห้วยขวาง พื้นที่ 3 ไร่ 2 งาน 11 ตารางวา 6.สวนสุขภาพห้วยขวาง ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พื้นที่ 3 งาน 69 ตารางวา 7.สวนหย่อมประชาอุทิศ พื้นที่ 80 ตารางวา 8.สวนหย่อมบ้านหนังสือชุมชนทับแก้ว พื้นที่ 1 งาน 91 ตารางวา 9.สวนหย่อมประชาอุทิศ พื้นที่ 80 ตารางวา 10.สวนอยู่เจริญภิรมย์ พื้นที่ 2 งาน 42.2 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมพระราม 9 แยก 11 พื้นที่ 3 งาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 2.สวนป่าใต้ทางด่วนพระราม 9 ตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม พื้นที่ 7 ไร่ 3 งาน 11 ตารางวา อยู่ระหว่างออกแบบพื้นที่สวนป่าเพิ่มเติม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งาน ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างระบบโซล่าเซลล์ รวมถึงประสานสำนักการโยธา เข้าดำเนินการปรับปรุงสภาพพื้นที่ 

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 11 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 167 ราย ดังนี้ 1.ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ซอยรุ่งเรือง ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 2.ถนนสุทธิสาร ปากซอยอุดมสุข ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-22.00 น. 3.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT สุทธิสาร ผู้ค้า 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. 4.ถนนรัชดาภิเษก หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา/ไทยภัทร ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-15.00 น. 5.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) แยกอโศกเพชร ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 6.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) หน้าเบสเฮ้าส์อพาร์ทเม้นต์ ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-22.00 น. 7.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) หน้าศูนย์โตโยต้า ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-12.00 น. 8.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคารสหพัฒน์/อาบอบนวด ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. 9.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) ซอยเพชรบุรี 38 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-15.00 น. 10.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) วัดใหม่ช่องลม/อิตัลไทย ผู้ค้า 19 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. และ 11.ถนนประชาอุทิศ ซอยประชาอุทิศ 17 ผู้ค้า 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 

ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว 10 จุด ได้แก่ 1.ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ซอยพุ่มอุไร ผู้ค้า 4 ราย 2.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) ซอยเพชรบุรี 40 ผู้ค้า 4 ราย 3.ถนนรัชดาภิเษก หน้าตลาดเมืองไทยภัทร ผู้ค้า 19 ราย 4.ถนนรัชดาภิเษก ซอย4 ผู้ค้า 6 ราย 5.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) ฝั่งตรงข้ามซอยเพชรบุรี 38 ผู้ค้า 3 ราย 6.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT รัชดาภิเษก ผู้ค้า 6 ราย 7.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT ห้วยขวาง ผู้ค้า 11 ราย 8.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคาร MSIG ผู้ค้า 5 ราย 9.ถนนเทียมร่วมมิตร (ขาออก) ผู้ค้า 7 ราย 10.ถนนพระราม 9 ซอย 5 ผู้ค้า 6 ราย รวมทั้งดำเนินการรวบจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคารสหพัฒน์/อาบอบนวด ผู้ค้า 12 ราย 2.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) วัดใหม่ช่องลม/อิตัลไทย ผู้ค้า 19 ราย ส่วนในปี 2567 มีเป้าหมายรวบจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT สุทธิสาร/ซอยอุดมสุข ผู้ค้า 40 ราย 2.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) แยกอโศกเพชร ผู้ค้า 10 ราย 

นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดนัดกลางซอย 6 ถนนพระราม 9 รองรับผู้ค้าได้ 80 ราย ตลาดเมืองไทยภัทร รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย และตลาด 9 Yards ถนนจตุรทิศ รองรับผู้ค้าได้ 160 ราย ซึ่งทั้ง 3 แห่งเป็นพื้นที่เอกชน จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พิจารณายกเลิกหรือรวบจุดที่มีผู้ค้าน้อยราย โดยให้ย้ายเข้าไปทำการค้าในจุดเดียวกัน หรือจุดที่เขตฯ จัดทำ Hawker Center เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป 

ในการนี้มี นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตห้วยขวาง สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักงานปกครองและทะเบียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล