In Bangkok

กทม.เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจโทษ-พิษ ภัยบุหรี่ไฟฟ้าป้องกันปัญหาสุขภาพเด็ก



กรุงเทพฯ-นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการดำเนินการตามมาตรการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และกระท่อม เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนว่า สนพ.ได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักการศึกษา สำนักอนามัย และสำนักงานเขต ยกระดับการป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และกระท่อมอย่างใกล้ชิดในสถานศึกษาของ กทม. พร้อมประชาสัมพันธ์เรื่องโทษของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา หรือกัญชง และกระท่อม ที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต เนื่องจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า นับเป็นสารเสพติดประเภทหนึ่งที่มีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กและเยาวชนในวัยเรียนได้

นอกจากนั้น ได้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษและพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนและสถานพยาบาลของ กทม.โดยโรคปอดจากบุหรี่ไฟฟ้า แตกต่างจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่แบบมวน เช่น โรคถุงลมปอดโป่งพอง มะเร็งปอด วัณโรค หรือปอดอักเสบจากการติดเชื้อโรคอื่น ๆ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในคนที่สูบบุหรี่มานานนับสิบปีขึ้นไป โดยปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดในผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพียง 2-3 ปี เกิดขึ้นในคนอายุน้อย แข็งแรง แต่เกิดภาวะเจ็บป่วยอย่างรวดเร็ว และเกิดการอักเสบขึ้นทั่วปอด จนปอดไม่สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ ทำให้มีอาการหายใจเร็ว เหนื่อยหอบ และปอดล้มเหลว ข้อพึงสังเกตจะมีอาการเหนื่อย ไอแน่นหน้าอก ไอปนเลือด เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ คลื่นไส้ อาเจียน ไข้หนาวสั่น ปวดท้อง ใจสั่น หายใจเร็ว ออกซิเจนในเลือดต่ำ และอาจมีอาการรุนแรงจนถึงภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว ทั้งนี้ หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว หรือหากต้องการปรึกษาเรื่องสุขภาพสามารถ โทร. สายด่วน 1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ ซึ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง