In Bangkok
กทม.จับมือ6จังหวัดปริมณฑลระวังปัญหา เร่งแก้น้ำท่วม-น้ำเสีย-น้ำเซาะชายฝั่ง
กรุงเทพฯ-(18 ม.ค.67) นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือบริหารจัดการน้ำ ณ ห้องประชุมชั้น 13 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครดินแดง และผ่านระบบออนไลน์
การประชุมวันนี้ได้มีการแจ้งคำสั่งคณะกรรมการอำนวยการความร่วมมือการทำงานกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ที่ 01/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือการทำงานกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ในฐานะประธานกรรมการร่วมฯ ให้คณะอนุกรรมการฯ ได้รับทราบ ซึ่งในส่วนของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือบริหารจัดการน้ำ ได้แต่งตั้งรองปลัดกรุงเทพมหานคร สั่งราชการสำนักการระบายน้ำ เป็นประธานอนุกรรมการ
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การประชุมในวันนี้มี 3 เรื่องสำคัญที่ต้องร่วมกันประสานงานแก้ไขปัญหาระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล 6 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา) คือ
1. การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ของจุดเสี่ยงในช่วงรอยต่อ เช่น ถนนพหลโยธินบริเวณอนุสรณ์สถานเขตดอนเมืองรอยต่อจังหวัดปทุมธานี ถนนประชาชื่นเขตบางซื่อและถนนงานวงศ์วานเขตหลักสี่รอยต่อจังหวัดนนทบุรี ถนนสุขุมวิทบริเวณปากซอยสุขุมวิท 107 (แบริ่ง)เขตบางนารอยต่อจังหวัดสมุทรปราการ ถนนหลวงแพ่งเขตลาดกระบังจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น โดยกรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาในบริเวณดังกล่าว เช่น การพัฒนาระบบท่อระบายน้ำ คู คลอง ระบบสูบน้ำและแก้มลิง เป็นต้น ซึ่งจังหวัดปริมณฑลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการร่วมวางแผนพัฒนาระบายน้ำให้สอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์ ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการพัฒนาระบบระบายน้ำ แบ่งเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในระยะสั้นให้จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกันโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานระบบระบายน้ำที่มีอยู่ ควบคุมระดับน้ำไม่ให้เกินค่าระดับวิกฤติทั้งในกรุงเทพมหานครและพื้นที่จังหวัดปริมณฑล ให้แล้วเสร็จก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝนในเดือน พ.ค. 67 นี้
2. การแก้ไขปัญหาน้ำเสียร่วมกัน ซึ่งต้องแก้ไขจากแหล่งกำเนิด คือ อาคารบ้านเรือนของประชาชน อาคารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยให้จังหวัดปริมณฑลประสานบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชน ภาครัฐและเอกชน รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินการบำบัดน้ำเสียก่อนทิ้งลงคลอง โดยดำเนินการควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ยังประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานในการใช้น้ำดีจากกรมชลประทานเป็นต้นทุนในการนำมาบำบัดน้ำเสีย ซึ่งต้องอาศัยการเปิดประตูระบายน้ำในแต่ละจุดของคลองที่เชื่อมต่อให้สัมพันธ์กัน จึงมอบหมายให้สำนักการระบายน้ำจัดทำแผนการดำเนินการ เพื่อให้การแก้ปัญหาสัมพันธ์กันทุกจุดระหว่างกทม. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจังหวัดปริมณฑล ให้จังหวัดประสานหน่วยงานในจังหวัดในการบังคับใช้กฏหมาย
3. การแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งกรุงเทพฯจะมีปัญหาในพื้นที่เขตบางขุนเทียนประมาณ 4.7 กิโลเมตร ต่อเนื่องกับชายฝั่งของจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งขณะนี้กทม.ได้ทำการศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนกรุงเทพมหานครแล้ว โดยจะนำผลการศึกษาที่ได้ประสานกับจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรปราการ พิจารณาการดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในส่วนต่อเนื่อง ต่อไป
ผู้เข้าร่วมประชุมในวันนี้ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา) สำนักการระบายน้ำ และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร