In News

ภารกิจนายกฯลุยตรวจงานเชียงใหม่วันนี้ ชมผลิตภัณฑ์โอทอป/ดู'บัวขาว'ไหว้ครู



เชียงใหม่-​นายกฯ ชมกิจกรรมการแสดงมวยไทยและการไหว้ครูของเยาวชนมวยไทย และนักมวยต่างประเทศ ก่อนหน้านี้นายกฯ หวังให้หลักสูตร “รวมมิตร” เป็นแบบอย่างการช่วยเหลือ ปชช. ช่วยสร้างโอกาส ต่อยอดแนวคิดให้ ปชช. มีช่องทาง สร้างรายได้เพิ่มขึ้น และเข้าเยี่ยมชมสินค้าและผลิตภัณฑ์จากโครงการตามพระราชดำริและเดินชมตลาดจริงใจ ชิมกาแฟภาคเหนือ พร้อมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมคนท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในพื้นที่ร่วมกัน ช่วงเช้านายกฯ เยี่ยมชมโครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ฯ ยืนยันรัฐบาลพร้อมส่งเสริมเกษตรกร พัฒนาพันธุ์พืชไทย ขยายตลาดไม้ดอกส่งออกต่างประเทศ

วันนี้ (20 มกราคม 2567) เวลา 17.30 น. ณ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมกิจกรรมการแสดงมวยไทยและการไหว้ครูของเยาวชนมวยไทย และนักมวยต่างประเทศ โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ พร้อมคณะเข้าร่วม

โดยนายกรัฐมนตรี ได้ชมการแสดงมวยไทยจากกลุ่มเยาวชน จากค่ายมวยบุญลานนามวยไทย ชมการไหว้ครูและออกอาวุธแม่ไม้มวยไทย โดยร้อยโท สมบัติ บัญชาเมฆ หรือบัวขาว นักมวยไทยชื่อดัง นอกจากนี้ ยังมีพญาหงส์ บัญชาเมฆ นักมวยหญิงแชมป์ K1 โชว์แม่ไม้มวยไทยด้วย

นางสาวแพทองธาร กล่าวว่าในฐานะตัวแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์พาวเวอร์ ที่เกี่ยวข้องกับมวยไทยโดยตรง ตั้งเป้าให้มวยไทย ไปโอลิมปิกโลกให้ได้ ซึ่งการดำเนินการด้านกีฬา มีนายพิมล ศรีวิกรม์เป็นประธานกรรมการซอฟพาวเวอร์ ด้านกีฬา จะช่วยผลักดันเรื่องนี้  อย่างไรก็ตาม แม้จะยอมรับว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายแต่ รัฐบาลเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยากเกินไปแน่นอน 

นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อไปว่า ต้องสร้างรากฐานมาตรฐานต่างๆ ให้เกิดยอมรับที่ชัดเจน โดยจัดตั้งสถาบันมวยแห่งชาติ เพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างมาตรฐาน และมีหลักสูตรมวยไทย อย่างเป็นระบบ  มีกรรมการให้ความรู้ชาวต่างชาติ เข้ามาดูมวยไทย  เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการวัดระดับเทควันโด  ซึ่งในอนาคตจะมีการวัดระดับมวยไทยเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการวัดองค์ความรู้ให้เป็นระบบ ยกระดับอาชีพครูมวยให้มีใบประกอบอาชีพ และพัฒนาองค์ความรู้ทั้งระบบ มวยทั้งการสอนมวยและค่ายมวย  รวมไปถึงการจัดแข่งขันมวยให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นที่รู้จักถือเป็นการสื่อสารกีฬาของไทยไปสู่สายตาชาวโลก 

นางสาวแพทองธาร กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ตนเอง และนายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้ดูเวที มวยลุมพินี ไดัเห็นนักมวยไทย นักมวยชาวต่างชาติเข้าร่วมแข่งขันกันบนเวทีด้วย ทุกคนดูรักมวยไทย  ต่อไปจะสร้างค่ายไทยในต่างประเทศมากขึ้น ขณะนี้มีอยู่ 40,000 กว่าแห่ง เพื่อส่งออกวัฒนธรรมให้กับต่างชาติ  ให้ชาวต่างชาติรักประเทศไทยมากขึ้น พร้อมย้ำว่าจะสร้างมวยไทยให้มีศักยภาพมากขึ้น หลังรับชมกิจกรรม นายกรัฐมนตรี ได้มอบ กางเกงนักมวยและนวม ให้กับบัวขาว รวมถึงได้มอบลายเซ็นบนนวม ให้นักมวยด้วย

นายกฯหวังให้หลักสูตร “รวมมิตร” เป็นแบบอย่างการช่วยเหลือ ปชช. 

ณ อาคารอเนกประสงค์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังเยี่ยมชมสินค้าและผลิตภัณฑ์จากโครงการตามพระราชดำริ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงข่าว 

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า วันนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ขอใช้คำว่าสังคมไทยเลยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นแนวคิดของรัฐบาลนี้ร่วมกับผู้อำนวยการหลักสูตรรวมมิตร ที่ได้มาร่วมมือกันในวันนี้ เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนและช่วยเหลือสินค้าในโครงการพระราชดำริ ต้องขอท้าวความตอนที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารจัดการประเทศ เราได้มาเยี่ยมชมโครงการห้วยฮ่องไคร้ โดยมากับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และเห็นศักยภาพของโครงการพระราชดำริว่า สามารถที่จะต่อยอดทำอะไรได้อีกเยอะ เป็นโครงการที่ดีแต่ยังขาดทำการตลาด พอดีผู้อำนวยการหลักสูตรรวมมิตรได้เชิญตนเองไปพูดที่หลักสูตร ซึ่งตนเองก็บอกว่าได้ แต่ขอให้ตนเองมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรนี้ไปด้วย 

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า จึงได้เรียนเชิญคณะนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทั้งหลายได้สละเวลา ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่สุดของเขาให้มาลงพื้นที่พระราชดำริ ให้มาเข้าใจและศึกษาปรัชญาในการทำโครงการพระราชดำริ และเข้าใจความต้องการของพี่น้องประชาชนหลายๆ ท่านที่ประสบปัญหาอยู่ และยังไม่สามารถไปถึงศักยภาพที่เขาสามารถไปได้ ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องของการทำตลาด วันนี้จึงได้มาพูดคุยกัน ทางนักศึกษารวมมิตรก็มาทำเวิร์กชอปและหาทางออกให้กับพี่น้องที่ทำการค้าขายทางด้านสินค้าเกษตรได้เยอะมาก 

นายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำว่า  เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่หลักสูตรต่างๆจะนำไปพัฒนา และนำไปเป็นแบบอย่างในการที่จะทำเรื่องนี้กันต่อไป ซึ่งสินค้าในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น OTOP สินค้าโครงการพระราชดำริหรือสินค้าของพี่น้องประชาชนคนไทยในหลายจังหวัดมีศักยภาพสูง มีความต้องการสูง แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้ ฉะนั้นที่เรายืนอยู่บนเวทีนี้ เชื่อว่าจะสามารถเปิดตลาดโลกให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนได้ ดังนั้น ต้องขอบคุณข้าราชการทุกท่าน ผู้อำนวยการฯนักเรียนรวมมิตรทุกท่านที่สละเวลาอันมีค่ามาช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชนในวันนี้

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเยี่ยมชมสินค้าและผลิตภัณฑ์จากโครงการตามพระราชดำริ 

อาคารอเนกประสงค์ ชาวบ้านไทยไตลื้อ มอบของที่ระลึก จากนั้น พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ผู้อำนวยการหลักสูตรรวมมิตร มอบของที่ระลึก (น้ำผึ้งผลิตภัณฑ์จากกลุ่มฯ) และเป็นตัวแทนกลุ่มรวมมิตร มอบเครื่องวัดความชื้นของน้ำผึ้งและตู้อบระเหยความชื้นน้ำผึ้ง (พลังงานแสงอาทิตย์) ให้แก่โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์จากโครงการตามพระราชดำริและของดีอำเภอดอยสะเก็ด และพบปะผู้ประกอบการร่วมกับหลักสูตรรวมมิตร โดยระหว่างนั้นบางส่วนของกลุ่มรวมมิตร แยกไปทำ Work Shop จำนวน 14 กลุ่ม ร่วมกับ ผู้แทนเกษตรกร โดยกลุ่มรวมมิตรได้ให้คำแนะนำกับเกษตรกร เรื่องการปรับปรุงและพัฒนาสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด เพื่อให้สินค้าชุมชนเป็นที่น่าสนใจ ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมพูดคุย ภายในกลุ่มเวิร์คช็อป ซึ่งนายกรัฐมนตรี รับทราบปัญหาของเกษตรกรและจะนำไปแก้ไขให้ โดยเฉพาะขั้นตอนในการขอใบอนุญาตอาหารและยา หรือ อย. เพื่อให้นำสินค้าชุมชนออกสู่ตลาดโลกได้ เพราะสินค้าบางชนิดมีคุณภาพและ เป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติ แต่ไม่สามารถส่งออกและ จำหน่ายในประเทศได้เนื่องจากติดปัญหาดังกล่าว

ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมบริเวณการสาธิตกิจกรรมกลุ่มแม่บ้าน เช่น การทำจานใบตองตึง การทำน้ำผึ้ง เป็นต้น และเยี่ยมชมกาดมั่ว พร้อมกับเข้าร่วมสังเกตุการณ์ในการทำ Work Shop ของคณะรวมมิตร และผู้แทนกลุ่มรวมมิตรจำนวน 14 กลุ่ม ถอดบทเรียนปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนสิ่งที่คาดหวังในการให้การสนับสนุนในผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท รวมทั้งนายกรัฐมนตรีรับฟังสรุปผลในภาพรวมของการ Work Shop จากผู้แทนกลุ่มรวมมิตร

จากนั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่มาเยี่ยมชม ถือเป็นโอกาสที่ได้มาลงพื้นที่ ซึ่งวันนี้มีนักธุรกิจระดับ Top จากทั่วประเทศ ที่เป็นคนมีความรู้ความสามารถทางด้านการค้าขาย  ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับพี่น้องในชุมชน และขอขอบคุณที่สละเวลามาช่วยดูแลพี่น้องในชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยโครงการในพระราชดำริ เป็นโครงการที่ดี สามารถนำมาต่อยอดได้อีกมาก 

นายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในหลักสูตรรวมมิตร ซึ่งได้เปิดโอกาสให้มาลงพื้นที่ มาศึกษาปรัชญาในการทําโครงการพระราชดําริและเข้าใจความต้องการของพี่น้องประชาชนหลายๆ ท่าน เข้าใจ pain point ที่ประสบปัญหาอยู่หรือยังไม่สามารถไปถึงศักยภาพที่สามารถไปได้  โดยส่วนมากเป็นเรื่องการทําการตลาด 

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า วันนี้มีการมาพูดคุยกันแล้ว พร้อมกับหาทางออกให้พี่น้องที่ทําการค้าขายทางด้านสินค้าเกษตรได้เยอะมาก ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่หลักสูตรต่างๆ จะเอาไปพัฒนา รวมทั้งสินค้าประเทศไทย ซึ่งเป็น OTOP จริงๆ สินค้าในโครงการวิชาชีพเป็นสินค้าของพี่น้องประชาชนคนไทยในจังหวัด มีศักยภาพสูงมีความต้องการสูง แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้ จึงเชื่อว่าการหารือครั้งนี้จะเป็นการเปิดตลาดโลกให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนได้ 

ภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม นายกรัฐมนตรีได้มอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรประมง จำนวนประมาณ 50,000 ตัว ประกอบด้วยปลาตะเพียนขาวและปลาจาด 

เดินชมตลาดจริงใจ ชิมกาแฟภาคเหนือ พร้อมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเยี่ยมชมตลาดจริงใจ (JING JAI MARKET) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีเดินเยี่ยมชมและศึกษาเมล็ดกาแฟที่เป็นผลผลิตจากเกษตรกรพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ข้างเคียง เช่น เมล็ดกาแฟดอยขุนวาง อำเภอแม่วาง เมล็ดกาแฟดอยขุนช้างเคี่ยน อำเภอเมือง โดยข้อมูลจากสำนักนโยบายยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกเมล็ดกาแฟถึง 250,000 ไร่ และมียอดส่งออกกาแฟเป็นอันดับ 8 ของโลก รวมทั้งยังได้ร่วมชิมกาแฟจากร้าน Mix Kaffe ซึ่งเป็น 1 ในร้านกาแฟจากผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าร่วมออกงาน Chiang Mai Coffee Week ระหว่างวันที่ 18 – 21 มกราคม 2567 เวลา 06.30 – 21.00 น. ณ ตลาดจริงใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับบาริสต้าเจ้าของร้าน ชื่มชมรสชาติและรูปแบบการนำเสนอกาแฟ สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่พร้อมส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย รวมไปถึงภาคเกษตรกรต้นทางผลผลิต ทั้งเมล็ดกาแฟไทย และร้านกาแฟของคนไทย

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมในโซนตลาดจริงใจ Farmers Market ซึ่งเป็นตลาดผักเกษตรอินทรีย์ที่จำหน่ายพืชผัก ผลไม้ ออร์แกนิคและปลอดสารจากเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น จากอำเภอพร้าว สารภี สะเมิง ดอยสะเก็ด ไชยปราการ แม่อาย โดยภาคเอกชนได้สนับสนุนผ่านการส่งเสริม ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการปลูกผลิตภัณฑ์เกษตรแต่ละชนิดให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งเป็นตัวแทนในการรับผลผลิตเข้ามาขาย และหาช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังตลาดและกระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง  ซึ่งจากเดือนมกราคม-ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ตลาดจริงใจสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนได้กว่า 295 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เดินชมผลิตภัณฑ์จากกลุ่มตลาดสินค้าทำมือ ซึ่งได้รวบรวมช่างฝืมือท้องถิ่นไว้ในพื้นที่ถึง 190 ร้านค้า เช่น การทอผ้าท้องถิ่น การออกแบบเสื้อผ้าพื้นเมืองให้ร่วมสมัยจาก young designer ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันภายในตลาดจริงใจ

ทั้งนี้ ตลาดจริงใจ (จริงใจ Farmers Market เชียงใหม่ และรัสติคมาร์เก็ต) เป็นหนึ่งในโครงการของเครือกลุ่มเซ็นทรัลที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิดรักษ์โลก (Eco-friendly) และ CSV (Creating Shared Value) เพื่อส่งเสริมเกษตรกร ช่างฝืมือท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อย ตลอดจนดีไซเนอร์และศิลปินไทยในแต่ละแขนง พร้อมทั้งเป็นพื้นที่แบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับคนท้องถิ่นและชุมชน จัดแสดงผลงานส่งเสริมภูมิปัญญาอัตลักษณ์ไทย เปิดพื้นที่ในการสร้างประโยชน์เพื่อสังคมร่วมกัน โดยภายในจริงใจมาร์เก็ต แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อาหาร (Food) ศิลปะและงานออกแบบ (Art & Design) และงานฝีมือ (Craft) เปิดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 06.30 - 15.00 น.

นายกฯ เยี่ยมชมโครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ฯ

เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดําริ อําเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเยี่ยมชมโครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดําริ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายถึงประเด็นการส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่และการใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูก ซึ่งจากข้อมูลของโครงการศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ พบว่า ไทยมีศักยภาพในหลายปัจจัย เช่น สภาพภูมิประเทศทั้งพื้นราบและที่สูงสามารถผลิตได้ทั้งไม้ดอกไม้ผลได้หลากหลาย เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งสามารถพัฒนาเป็นพันธุ์พืชชนิดใหม่ ๆ ได้อีกมาก  ซึ่งศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ เป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกและไม้ผลให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่โครงการพระราชดำริ นำกล้าไม้ไปปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ตลาด รวมถึงยังหาตลาดให้กับเกษตรกรที่อยู่ในโครงการด้วย   

โดยตัวอย่างพันธุ์พืชที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จในปัจจุบัน คือ พืชกลุ่มปทุมมา และกลุ่มกระเจียว หรือที่ต่างชาตินิยมเรียกว่า “สยามทิวลิป” ซึ่งมีการคิดค้นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีสีสันสวยงาม จนเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของภาคเหนือในปัจจุบัน รวมไปถึง กล้วยไม้แวนด้า ดอกไฮเด็นเยียร์ และล่าสุดมีการส่งเสริมการปลูกต้นวาซาบิ ที่สามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละกว่า 10,000 บาท 

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเยี่ยมชมครั้งนี้ถือเป็นการ Kickoff จุดเริ่มต้นที่ดีในการหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาล ภาครัฐ และภาคเอกชน ในการร่วมกันพัฒนาสินค้าทางการเกษตรของไทยที่มีศักยภาพ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาสยามทิวลิป ซึ่งอยู่ที่การนำเสนอไม้ดอกไม้ผลอย่างไรให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องให้เกษตรกรทุกรายสามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภค ยกระดับรายได้ให้ประชาชนอย่างยั่งยืน

จากนั้น ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ และหน่วยงานความร่วมมือ จำนวน 6 งาน ได้แก่
1. งานพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ได้แก่ ลูกผสมปทุมมาและกระเจียว สายพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์พืช และคุ้มครองพันธุ์พืชที่ได้นำไปส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรจากภาคเหนือจรดภาคใต้ ลูกผสมแกลดิโอลัส ลูกผสมดาหลา และบานชื่น
2. การขยายพันธุ์แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชชนิดต่างๆ ที่นำไปส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร และงานวิจัยเทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เช่น ปทุมมา กระเจียว แกลดิโอลัส วาซาบิ และ สตรอว์เบอร์รี 
3. ผลิตภัณฑ์สินค้าพืชเมืองหนาว เช่น ไฮเดรนเยีย ลิลลี ลาเวนเดอร์ และ วาซาบิ 
4. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมาเย็น (Cold Plasma technology) จากความร่วมมือระหว่างศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ กับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์วิจัยเชิงธุรกิจด้านเทคโนโลยีพลาสมาสำหรับเกษตรและชีวภาพ (Agriculture and Bio Plasma Technology Center : ABPlas) เพื่อพัฒนางานวิจัยด้านไม้ดอกและไม้ผล 
5. งานขยายผลกลุ่มไม้ดอก ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ (กลุ่มผู้ผลิตแกลดิโอลัส และ กลุ่มผลิตปทุมมาและกระเจียว)
6. งานขยายผลบนพื้นที่สูง งานแสดงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชนเผ่า เช่น กาแฟภูพยัคฆ์ และการทำเครื่องจักรสาน ฯลฯ

นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ได้ดำเนินการจัดเก็บรวบรวมพันธุ์ไม้ดอกต่าง ๆ รวมไปถึงการศึกษาวิจัยพันธุ์ไม้ ซึ่งมีแผนงานพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล 7 ชนิด ได้แก่ 1. กระเจียว ปทุมมา 2. แกลดิโอลัส 3. บานชื่น 4. ดาหลา 5. แอสเตอร์ 6. หงส์เหิร และ7. สตรอว์เบอร์รี เพื่อนำผลสำเร็จในการขยายพันธุ์พืชไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในแต่ละภูมิภาคของประเทศ นำไปเพาะปลูกเพื่อประกอบอาชีพ รวมไปถึงร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคเอกชน องค์กรต่าง ๆ  โดยสามารถพัฒนาธุรกิจส่งออก ผ่านการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร เชื่อมโยงกับผู้ส่งออก และผู้นำเข้าจากต่างประเทศ สร้างรายได้กว่า 38,668,975 ล้านบาท (จากข้อมูลกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับการขยายผล เมื่อปี พ.ศ. 2565) 

ทั้งนี้ โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เริ่มดำเนินการทดลองขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลในหมู่บ้านไร่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และในปี พ.ศ. 2528 ทรงมีนโยบายยกฐานะของโครงการขึ้นเป็นศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ฯ สังกัดอยู่ในศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) พร้อมทั้งเพิ่มภารกิจให้ครอบคลุมไปถึงงานพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลด้วย โดยมีพื้นที่ตั้งของสำนักงานศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ฯ อยู่ในหมู่ 1 ต.บ้านแหวน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ 33 ไร่ และหน่วยฝึกยางคราม อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ 90 ไร่