In Thailand

ปลัดมท.ร่วมนายกสมาคมแม่บ้านมท.เปิด 'ธนาคารปู'วิยะเครปที่ไชยา



สุราษฏร์ธานี-ปลัด มท. จับมือนายกสมาคมแม่บ้าน มท. เปิด "ธนาคารปู" วิยะเครป ตำบลพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ชื่นชมเป็นธุรกิจเพื่อสังคมต้นแบบการน้อมนำพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เพื่อสร้างสิ่งที่ดีให้กับจังหวัดสุราษฎร์ธานีและโลกใบเดียวนี้

วันนี้ (20 ม.ค. 67) เวลา 10.00 น. ที่บริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด หมู่ที่ 2 ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารปู โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางดาเรศ จิตรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสุคนธ์ หนูภักดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายชวลิต โรจนรัตน์ นายอำเภอไชยา คุณศรีวรรณ สายฟ้า นายกสมาคมสตรีไทยมุสลิมแห่งประเทศไทย ข้าราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมในพิธี โดย คุณสุวณีย์ ทิพย์หมัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร พนักงาน ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้ ตน และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เดินทางมา ณ สถานที่แห่งนี้เป็นครั้งที่ 2 เพื่อมาให้กำลังใจผู้หญิงเก่งของประเทศไทย คือ พี่วิยะ หรือ คุณสุวณีย์ ทิพย์หมัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด และครอบครัว ผู้ซึ่งได้มีโอกาสที่ดีของชีวิตได้รับคัดเลือกเข้ารับพระราชทานรางวัลสตรีไทยดีเด่น อันเป็นรางวัลที่เป็นเครื่องยืนยันว่า สตรีที่ได้รับพระราชทานรางวัลนี้ต้องเป็นผู้หญิงที่เก่งและดีด้วย ทั้งยังเป็นภาคีเครือข่ายภาคเอกชนคนสำคัญ ผู้มีความมุ่งมั่นในการสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ตำบลพุมเรียง ให้หันมาใส่ใจดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์สัตว์น้ำ โดยน้อมนำพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2550 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ความตอนหนึ่งว่า "...พระเจ้าอยู่หัวทรงอ่อนพระทัย รับสั่งให้ข้าพเจ้าฟัง บอกนี่นะ เดี๋ยวนี้ฉันก็พยายามให้สุดใจที่จะไม่ให้ใครมาทำลายป่าชายเลน ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าใจว่าทำไมทรงห่วงป่าชายเลนมาก รับสั่งว่ารู้มั้ยสิริ ป่าชายเลนนี่คืออนุบาล เท่ากับว่า ปู ปลา กุ้ง อะไรต่าง ๆ เขาใช้เป็นที่ที่ตอนเขาเกิดมาเล็ก ๆ ยังสู้กับโลกไม่ใหว เขาใช้เป็นที่พักพิง แล้วก็โตวันโตคืนขึ้นมาเพื่อให้เราจับกิน.."

"คุณสุวณีย์ ทิพย์หมัด เป็นผู้นำสตรีคนสำคัญในการหลอมรวมพลังกาย พลังใจ โดยใช้ความรู้ความสามารถ ความรัก ความสามัคคี ของพี่น้องบริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด ในการผลิตอาหารจากปูม้าที่มีคุณภาพและส่งจำหน่ายสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะ "ปูอัดกระป๋อง" ที่มีคุณภาพได้รับมาตรฐานสากล ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการจัดตั้ง "ธนาคารปู (Viya crab)" เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลชุมชน ดูแลสังคม ตลอดรวมถึงประเทศชาติของพวกเราทุกคน อันเป็นการสนองพระราชเสาวนีย์ในเรื่องที่พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญและพระราชทานแนวทางให้พวกเราคนไทยได้ช่วยกันทำนุบำรุงฟื้นฟูทะเลไทยให้มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1) การปลูกป่าชายเลนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ให้กับชายฝั่ง เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งทำมาหากินของสัตว์น้ำ ทั้งปู ปลา อันยังผลให้พวกเรามีอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ใช้ในการประทังชีวิต 2) การทำปะการังเทียม ซึ่งกองทัพเรือและสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้มีการนำปะการังเทียมมาบริจาคผ่านกรมประมง เพื่อนำไปมอบให้ชุมชนตามชายฝั่งช่วยกันวาง เพื่อก่อให้เกิดที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ ทำให้วัฏจักรตามธรรมชาติของสัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์ 3) การนำสัตว์น้ำคืนสู่ธรรมชาติเพื่อให้มีการแพร่พันธุ์ขยายพันธุ์ ทั้งเต่าตนุ ปลา ปูม้า กุ้ง และนับเป็นความโชคดีของพวกเราคนไทยทุกคน ปัจจุบันนี้เราโชคดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริทั้งปวงของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานผ่านพระราชดำรัสอันเปรียบเป็นพระบรมราชโองการ องค์ที่ 2 ความว่า "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ด้วยเพราะพระองค์ท่านทรงอยากเห็น "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" ซึ่ง 2 สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ พวกเราทุกคนต้องช่วยกันสนองพระราชปณิธานนี้ด้วยการ "แก้ไขในสิ่งผิด" ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยฟื้นคืนกลับมา เฉกเช่นวิยะเครป" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด เป็นผู้นำชุมชนคนสุราษฎร์ธานีในการที่จะทำให้เกิดกิจกรรมสำคัญให้พี่น้องประชาชน ให้เด็ก เยาวชน คนในชุมชนได้เรียนรู้ว่า เราสามารถปล่อยปูม้าที่กำลังมีไข่ให้เขาเพาะพันธุ์ได้ ความยั่งยืนเรื่องอาหารจะเกิดขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ไปร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ "76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ร่วมกับหัวหน้าผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อผนึกกำลังบูรณาการภาคีเครือข่ายในสังคม ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนทุกกิจกรรมสอดคล้องกับ SDGs โดยสิ่งที่วิยะเครปได้ทำในครั้งนี้สามารถตอบโจทย์ SDGs ทั้งเป้าหมายที่ 1: ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เพราะทำให้ลูกหลาน คนงาน มีรายได้เลี้ยงชีพ เป้าหมายที่ 2: มุ่งมั่นที่จะขจัดความหิวโหยและความอดอยากทุกรูปแบบ เป้าหมายที่ 14: อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งผลให้ปูม้าสามารถมีชีวิต เติบโต และให้ชาวประมงชายฝั่งไปจับได้ และที่เด่นชัดที่สุด คือ เป้าหมายที่ 17: เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้เกิด Partnership ทั้งในและนอกบริษัท ที่จะได้ร่วมกันดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศชาติให้เพิ่มพูนและคงอยู่อย่างยั่งยืน อันเป็นเหมือน Butterfly Effect ที่ส่งผลดีต่อทุกคนที่จะได้รับประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีภูมิประเทศไม่สามารถเข้าถึงอาหารทะเล ไม่มีปูไว้บริโภค เช่น ทางตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ในโลก จะมีโอกาสได้บริโภคปูที่มีคุณภาพดี ที่เจริญเติบโตจากธรรมชาติ ทั้งนี้ ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้นำวิธีการ และตัวอย่างการขับเคลื่อนงานธุรกิจเพื่อสังคมของบริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด ภายใต้การนำของ "พี่วิยะ" เป็นต้นแบบ เป็น Magnet ที่จะดึดดูดขยายผลสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและในโลกใบเดียวนี้ ให้กับนักธุรกิจ และประชาชนทั่วไปในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในประเทศไทย และโลกใบนี้ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ด้านนางสาวมาดิน๊ะ เล่าเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2548 โดยคุณสุวณีย์ ทิพย์หมัด ผู้เป็นมารดา ซึ่งได้ทำธุรกิจส่งออกเนื้อปูม้า และได้หารือกันว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อคืนปูสู่ธรรมชาติด้วย จับปูมาเท่าไหร่ก็อยากคืนกลับธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ โดยบริเวณพื้นที่ตำบลพุมเรียงเป็นแหล่งชาวประมง 80% ขึ้นไป มีเรือประมง และมีเรือประมงรายย่อยจับปูกันอุดมสมบูรณ์มาก และพบว่า หลายปีผ่านไปปูน้อยลง เราจึงมาสนับสนุนการจัดทำ "ธนาคารปู" บริเวณคลองพุมเรียง โดยเอาปูที่มีไข่ไปปล่อยในกระชัง ต่อมาปี 2557 เราเก็บปูที่มีไข่นอกกระดองมาเพราะฟักเลี้ยงดีกว่าปล่อยในกระชังทะเล โดยให้พนักงานเลือกปูที่มีไข่มาใส่ถังออกซิเจนเพื่อให้แม่ปูได้ปล่อยไข่ออกมา แล้วฟักออกไว้ประมาณ 2-3 วัน ระยะแรก จากเริ่มมีตัวอ่อนสามารถมีชีวิตของตัวเองได้แล้ว เราก็นำระยะนี้กลับไปปล่อยลงทะเล 4-5 ปี ต่อมา ได้ก่อสร้างอาคารเพาะฟักและติดตั้งอุปกรณ์ฮีตเตอร์ปรับระดับน้ำ ปรับอุณหภูมิน้ำ เมื่อเรามีความพร้อมมากขึ้น จึงสร้างอาคารธนาคารปูหลังใหม่ขึ้นมา เพื่อรองรับและเพิ่มปริมาณปู โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญอยากให้ปูในพื้นที่กลับมามีเยอะเหมือนเดิม ชาวประมงจะได้จับปูกันเป็นวิถีชีวิตควบคู่กับการเพาะพันธุ์ กลายเป็นกำไรกลับมาสู่ชุมชน โดยตอนนี้เราเพาะพันธุ์ได้ปูตัวอ่อนเกือบ 20,000 ตัว มีเป้าที่ตั้งไว้ 50,000 ตัว โดย "ธนาคารปูของวิยะเครป" เราเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ มาศึกษาดูงาน วิธีการเพาะพันธุ์ปู หรือจะมานำปูของวิยะเครปไปปล่อยเราก็ยินดี เพราะจะทำให้เด็ก เยาวชน หน่วยงาน และประชาชนรู้สึกว่าการปล่อยปูเป็นสิ่งที่เขาอยากจะช่วยอนุรักษ์ ไม่อยากให้ไปจับปูขนาดเล็ก จับปูที่มีไข่นอกกระดอง เพราะมันจะเป็นการตัดวงจรชีวิตปู และเราคาดหวังว่าสักวันหนึ่งในพื้นที่ของเราก็จะมีปูม้าที่มากขึ้นจนกระทั่งชาวประมงสามารถจับปูกันได้ทุกเดือน เดือนไหนที่มีปูน้อยก็ยังสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้

"เรามีความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยม ที่จะพัฒนาโครงการธนาคารปูม้าให้ประสบผลสำเร็จ ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าในพื้นที่ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต และหวังว่าที่นี่จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้แก่ภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน นักเรียน นักศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันรณรงค์ และผลักดันในการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า ให้มีความยั่งยืนสืบต่อไป" นางสาวมาดิน๊ะฯ กล่าวเพิ่มเติม