In News
นายกฯสวมเสื้อ'ทรัพย์รักษ์ระนอง'ถกครม. พร้อมรับหนังสือกลุ่มผู้คัดค้านแลนด์บริดจ์
ระนอง-นายกฯ สวมเสื้อลาย “ทรัพย์รักษ์ระนอง” เยี่ยมชมนิทรรศการ จ.ระนอง ก่อนเป็นประธานประชุม ครม.สัญจรนัดแรกปี 67 จ.ระนอง หนุนอาหารไทยพื้นถิ่นที่ต้องชิม ผลักดันให้เป็นเมนูซอฟต์พาวเวอร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและนายกฯ รับหนังสือจากกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ Land bridge ยืนยันทุกเสียงของประชาชน รัฐบาลพร้อมรับฟังเพื่อให้ได้ความกระจ่างในการทำโครงการ Land bridge นอกจากนี้นายกฯ พร้อมให้การต้อนรับและหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีเยอรมนีฯ ในห้วงระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เดินหน้าความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี พร้อมผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในทุกมิติ
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (23 ม.ค. 67) เวลา 09.00 ณ หอประชุมคอซู้เจียง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง จ.ระนอง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางมาเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 โดยนายกรัฐมนตรีได้สวมเสื้อลาย “ทรัพย์รักษ์ระนอง” เข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ ซึ่งผ้าลาย “ทรัพย์รักษ์ระนอง” เป็นลายผ้าประจำจังหวัดระนอง ที่มีลวดลาย “ดอกรักราชกัญญา” ลายแปดเหลี่ยมลักษณะเหมือน “เก๋งจีน ฝนแปด” แสดงถึงทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของเมืองฝนแปดแดดสี่ และประแจจีนซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบลายผ้าอินทนิล สินธุ์แร่นอง สื่อถึงความหมายสัญลักษณ์ความมงคลเป็นตัวแทนของความราบรื่นหมุนเวียนไม่สิ้นสุด นำพาความเจริญทางการค้าทางทะเล
โอกาสนี้ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ฯ นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการของพื้นที่จังหวัดระนองในหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้
1) โครงการชุมชนยั่งยืนบ้านเกาะสินไห ระนอง หลังเอกซเรย์-บำบัด-ฟื้นฟู แก้ไขปัญหายาเสพติดยั่งยืน โดยกระทรวงมหาดไทย
2) สุขทันที ที่เที่ยวระนอง/รถสองแถว บ่อน้ำพุร้อน มหานครบ่อน้ำร้อน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
3) ป่าชายเลน ความอุดมสมบูรณ์ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระนอง
4) เกษตรมูลค่าสูงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน : พืชมูลค่าสูง กาแฟระนอง กาหยู มังคุด GI /ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์
5) การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม สาธิตภูมิปัญญา ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT) และอาหารขึ้นชื่อของชุมชนบ้านหงาว ทำเหมืองแร่ อาหารรสชาติที่หายไป ก๊กซิมบี้ ลายผ้าอินทนิลสินธุ์แร่นอง
6) อุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชน จัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย นำเสนอผลิตภัณฑ์ น้ำแร่กระป๋อง น้ำแร่ฉีดหน้า
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างการเยี่ยมชมนิทรรศการ นายกรัฐมนตรีได้รับมอบสินค้าหัตกรรมจากกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ระนองด้วย อาทิ นางสาวบุบผา เพ็งพืช ประธานผ้าปักเมืองระนองที่มอบผ้าปาเต๊ะ ปักลาย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าฯ ของจังหวัดระนอง มาปักลูกปัดโดยนำลูกปัดมาเทียบกับสีของผ้า แล้วเย็บลูกปัดติดกับผ้าตามลายของผ้า สร้างเป็นลวดลายมีความนูน 3 มิติ และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ จากนั้น นายสมหมาย ทิพย์บุญทอง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในพื้นที่ตำบลหงาว ได้มอบเต่าเรียกทรัพย์ ที่ทำมาจากกะลามะพร้าวที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก นำกะลามาประดิษฐ์เป็นกระปุกออมสินเต่ามงคล โดยมีแนวคิดนำ “เต่าดำ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอายุยืนและลวดลายของวงล้อธรรมจักรลงบนเต่าทอง เต่าเงิน สื่อถึงความสมบูรณ์ ความสงบสุขในชีวิต ความหนักแน่น บารมี สุขภาพที่แข็งแรง รวมถึงการรับทรัพย์ และนำโชคลาภมาให้แก่ผู้ใช้ โดยนายกรัฐมนตรีได้เซ็นชื่อนายกรัฐมนตรีใต้ท้องเต่าเป็นที่ระลึก อีกทั้ง ผู้ว่าการ ททท. มอบโมเดลรถสองแถวไม้ รถประจำทางเอกลักษณ์จังหวัดระนองให้กับนายกรัฐมนตรีด้วย
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชิมก๊กซิมบี้ ซึ่งเป็นอาหารที่ถูกคัดเลือกในกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ประจำปี 2566 ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้จัดขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย
“นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลส่งเสริมให้คนไทยได้ตระหนัก เกิดความภาคภูมิใจกระตุ้นให้เกิดการยกระดับอาหารไทยพื้นถิ่น สู่อาหารจานเด็ดที่ต้องชิม ผลักดันให้เป็นเมนูซอฟต์พาวเวอร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้หนุนเศรษฐกิจของท้องถิ่นและประเทศให้ยั่งยืน” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกฯ รับหนังสือจากกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ Land bridge
เวลา 12.15 น. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับหนังสือจากกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ Land bridge ด้วยตนเอง โดยนายกรัฐมนตรีย้ำถึงกรณีหลายคนมีข้อสงสัยเรื่องของการศึกษาโครงการ Land bridge มีความครอบคลุมหรือมีอิสระหรือไม่ และดูแลครบทุกมิติหรือไม่ว่า การดำเนินดังกล่าวไม่ใช่แค่โครงการ Land bridge เท่านั้น แต่รวมถึงอุตสาหกรรมที่จะต่อเนื่องในอนาคตด้วย ตลอดจนการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาคม ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันรับฟังทุกความคิดเห็นและจะนำไปพิจารณาเพื่อประกอบการทำเอกสารศึกษาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีความกระจ่างในจุดประสงค์ของการทำโครงการ Land bridge รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้ นอกเหนือจากโครงการ Land bridge ซึ่งมั่นใจว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว การสร้างสนามบินอันดามันที่จังหวัดพังงา ซึ่งเราได้ดำเนินการแล้ว
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเรื่องการประมงซึ่งได้มีตัวแทนกลุ่มประมง 14 จังหวัดภาคใต้ เดินทางมาขอบคุณที่จะมี พ.ร.บ. ประมง โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในอาทิตย์หน้า ซึ่งจะทำให้ชาวประมงสามารถกลับมาค้าขายได้อีกครั้งหนึ่ง รวมไปถึงเรื่อง Soft power วัฒนธรรม กีฬาและอาหาร ก็ได้ถูกบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาลแล้ว ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าทุกเสียงของประชาชนจะถูกรับฟังอย่างดีจากรัฐบาลนี้
นายกฯ พร้อมให้การต้อนรับและหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีเยอรมนีฯ
วันที่ 23 มกราคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมให้การต้อนรับและหารือทวิภาคีกับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในห้วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ระหว่างวันที่ 24 - 26 มกราคม 2567 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะให้การต้อนรับประธานาธิบดีเยอรมนีฯ ภริยา และคณะ อย่างเป็นทางการ ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีเยอรมนีฯ พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน พร้อมทั้งร่วมหารือร่วมกับภาคเอกชนของเยอรมนี หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเยอรมนีฯ จะร่วมแถลงข่าว และภายหลังเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีเยอรมนีฯ และภริยา พร้อมด้วยคณะผู้แทนเยอรมนี
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเยือนในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนีให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยประธานาธิบดีเยอรมนีฯ พร้อมคณะ จะเดินทางไปศึกษาดูงานในหลายภาคส่วนที่มีศักยภาพของไทย อาทิ โรงงานผลิตรถยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด โครงการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแบบครบวงจร อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน พลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาชีวศึกษา
“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การเยือนในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่สำคัญของไทยและเยอรมนี ในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตร ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติให้มีความก้าวหน้า บนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของไทยในเวทีระหว่างประเทศ” นายชัย กล่าว
อนึ่ง การเยือนในครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ ประธานาธิบดีฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และเป็นการเยือนประเทศไทยในระดับประธานาธิบดีของเยอรมนีเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่การเยือนของประธานาธิบดีโยฮันเนส เรา เมื่อปี 2545 นอกจากนี้ การเยือนในครั้งนี้ ยังถือเป็นการต้อนรับผู้นำรัฐจากต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน