EDU Research & ESG

'สกสว.-สมาคมไทยบิสป้า'กำหนดเกณฑ์ ให้ทุนตรงเอกชนเน้นที่งานวิจัยศก.ชาติ



กรุงเทพฯ 24 มกราคม 2567-สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA) ร่วมพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐหรือตามอุปสงค์ของตลาด เพื่อขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชน TBIR/TTTR ให้หน่วยงานเครือข่ายและพันธมิตรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผ่านการเสวนาในหัวข้อ “แนวทางความต้องการนวัตกรรมเพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม” ภายใต้แนวคิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง เพื่อความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ให้ประเทศ

ดร.อติชาต พฤฒิกัลป์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชน เป็นกลไกการให้ทุนตรงไปยังภาคเอกชน โดยอาศัยหลักการของการแข่งขัน เพื่อให้ได้ข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพและมีศักยภาพสูง ตามโจทย์ความต้องการของภาครัฐหรือตามอุปสงค์ของตลาดที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบสูงต่อประเทศไทย โดยปัจจุบันได้มีการกำหนดกรอบงานวิจัยและสร้างนวัตกรรม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ ใน 6 ประเด็นหลัก คือ 1.เกษตรและอาหาร 2. พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ 3. การแพทย์และสุขภาพ 4. การท่องเที่ยว 5. โลจิสติกส์และระบบราง 6.เทคโนโลยีดิจิทัล

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายโครงการ สกสว. และ Thai-BISPAจึงร่วมกันจัดประชุมชี้แจงข้อมูลฯ กระบวนการทำ ระหว่างหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ทั้ง 9 แห่ง หน่วยงานให้โจทย์และหน่วยงานส่งเสริม ววน. เพื่อรวบรวมโจทย์ความต้องการจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนประจำปี การคัดกรองโจทย์ การจัดลับความสำคัญของโจทย์ และการคัดเลือก แบ่งตามพันธกิจและความรับผิดชอบของแต่ละ PMU ก่อนประกาศรับสมัครและจัดประชุมชี้แจงให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับโจทย์แก่นักวิจัย

ด้านคุณวัชรินทร์ วิทยวีรศักดิ์ ผู้จัดการอาวุโส สมาคม Thai-BISPA กล่าวถึงการขับเคลื่อนมาตรการฯ ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สามารถถ่ายทอดแนวปฏิบัติที่เหมาะสมจากการนำร่อง ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยปลดล็อกข้อจำกัดหรือลดขั้นตอนการเสนอขอทุนให้กับผู้รับทุนภาคเอกชนและหน่วยบริหารจัดการทุน ตลอดจนการเปิดโอกาสให้หน่วยงาน ววน. ที่มีศักยภาพเข้าร่วมนำร่องดำเนินมาตรการ ฯ ร่วมกันในฐานะเครือข่าย 2 โครงการ คือ 1.โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเสื้อกันกระแทกที่ใช้วัสดุกราฟิน โดย บริษัท กราฟินครีเอชั่นส์ จำกัด (โจทย์ตามความต้องการภาคเอกชน) และ 2.โครงการพัฒนาเครื่องวัดความดันโลหิต แบบดิจิตอลชนิดสื่อสารไร้สายด้วยสัญญาณบลูทูธโดย บริษัท เอสพี ครีเอทีฟ เมกเกอร์ จำกัด (โจทย์ตามความต้องการภาครัฐ) ซึ่งช่วยให้ได้มาซึ่งข้อเสนอโครงการและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพตามความต้องการของหน่วยงานให้โจทย์ นอกจากการเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการได้พัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมแล้ว ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเป็นเจ้าของผลงานวิจัยหรือทรัพย์สินทางปัญญาและนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น ซึ่งก่อเกิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง

นอกจากชี้แจงข้อมูลฯ งานประชุมเดียวกันนี้ มีการเสวนา เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางความต้องการนวัตกรรมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับความต้องการงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาของธุรกิจชุมชน สังคม เพื่อยกระดับยกชีวิตความเป็นอยู่หรือสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

ขณะที่คุณธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวตอนหนึ่งว่า EEC ได้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ไปใช้แก้ไขปัญหาของธุรกิจ อุตสาหกรรม ชุมชนและสังคมในพื้นที่ EEC ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทุกภาคส่วน อาทิ โครงการ EEC Select มุ่งยกระดับสินค้าชุมชนโดยใช้การนำองค์ความรู้ด้านวิจัยและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าสินค้า ได้มาตรฐานคุณภาพสูง ตรงใจตลาด สร้างรายได้ชุมชนยั่งยืน เป็นต้น โดยมีการสนับสนุนด้านการเงินจากกองทุน EEC ภายใต้แผนงานบูรณาการเชิงพื้นที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการจัดซื้อจัดจ้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพให้กับหน่วยงานภาครัฐ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้พัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง

ส่วนคุณศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ กรรมการคณะกรรมการส่งเสริมนวัตกรรมและวิจัย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ธุรกิจต่างๆ ถูกดิสรัปต์ได้ง่ายทั้งจากความรวดเร็วของดิจิทัล การเชื่อมต่อของโลกในยุคโลกาภิวัตน์และผู้บริโภคที่มีความจำเพาะเจาะจงมากขึ้น ดังนั้น ผลงานวิจัยและนวัตกรรมจึงเป็นคำตอบหลักที่จะแก้ไขปัญหาของธุรกิจเดิม หรือการพัฒนาและขยายผลเกิดเป็นธุรกิจใหม่ ซึ่งสภาหอการค้าไทยเห็นความสำคัญในประเด็นดังกล่าว จึงจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักให้กับสมาชิกโดยผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจ รวมทั้งการมีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านการวางกลยุทธ์หรือปรับปรุงแผนธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือ YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) ที่มีความพร้อมในการปรับเปลี่ยน แต่อาจจะยังขาดองค์ความรู้ในการคัดเลือกงานวิจัยและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับธุรกิจ การมีเครือข่ายส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเข้ามาเป็นตัวกลางเชื่อมโยงองค์ความรู้และบริการโครงสร้างพื้นฐานจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนของภาครัฐจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาและเพิ่มโอกาสในการต่อยอดธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ YEC ให้สามารถแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป