In Bangkok

กทม.ยกต้นแบบคัดแยกขยะกฟน.มีนบุรี ดูค่าฝุ่นจิ๋วแพลนท์ปูนนครหลวงคอนกรีต



กรุงเทพฯ-ยกต้นแบบคัดแยกขยะการไฟฟ้านครหลวงเขตมีนบุรี จับตาค่าฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนนครหลวงคอนกรีต ส่องสวน 15 นาทีริมถนนรามคำแหงตัดถนนสุวินทวงศ์ สำรวจ Hawker Center หมู่บ้านรินทร์ทองย่านมีนบุรี 

(25 ม.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตมีนบุรี ประกอบด้วย 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ การไฟฟ้านครหลวงเขตมีนบุรี ถนนรามอินทรา พื้นที่ 18,405 ตารางเมตร มีพนักงาน 280 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ตั้งถังสีเขียวสำหรับใส่เศษอาหารประจำชั้น โดยพนักงานจะแยกทิ้งขยะเศษอาหาร แม่บ้านจะรวบรวมนำไปใส่เครื่องปั่นย่อยสลายเศษอาหาร เพื่อทำเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ บางส่วนนำไปเลี้ยงสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งถังแยกขยะรีไซเคิลประจำชั้น โดยพนักงานจะแยกขยะรีไซเคิลก่อนทิ้ง แม่บ้านจะรวบรวมเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้ 3.ขยะทั่วไป ตั้งถังแยกขยะประจำชั้น พนักงานทิ้งขยะทั่วไปที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ แม่บ้านเก็บรวบรวมใส่ถุงดำนำไปทิ้งที่จุดพักขยะ เพื่อรอรถขยะเขตฯ มาจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย ตั้งจุดทิ้งขยะอันตรายนำส่งแผนกรวบรวมเก็บไว้ที่จุดพักขยะ 5.ขยะติดเชื้อ ตั้งถังติดเชื้อบริเวณสถานพยาบาล มีพนักงานเก็บรวบรวมใส่ถุงแดงนำไปไว้ที่จุดพักขยะ เพื่อรอบริษัทกรุงเทพธนาคมมารับไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 10,600 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 10,240 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 240 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 110 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 5-10 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวงเขตมีนบุรี ได้จัดทำโครงการต้นแบบการคัดแยกขยะ ตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการเกิดของเสียจากการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gases : GHGs) โดยดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การไฟฟ้านครหลวงเขตมีนบุรี ได้รับรางวัลสำนักงานสีเขียว (Green Office) ระดับดีเยี่ยม (G ทอง) ตามโครงการส่งเสริมสำนักงานสีเขียว (Green Office) ในปี 2564 จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด ถนนรามคำแหง ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 5 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 9 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 9 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 1 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 เน้นย้ำสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเปิดตลอดเวลาทำงาน ล้างทำความสะอาดล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากแพลนท์ปูน ตรวจสอบบ่อคายกากคอนกรีต ป้องกันไม่ให้ตะกอนปูนล้นออกมานอกบ่อ ตรวจวัดควันดำตามรอบที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ 

สำรวจสวน 15 นาที บริเวณถนนรามคำแหง ช่วงถนนรามคำแหงตัดกับถนนสุวินทวงศ์ เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนใหม่) เปิดใช้งานแล้ว จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนมีนบุรีภิรมย์ ถนนสีหบุรานุกิจ บริเวณหลังโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน โดยถมดินปรับสภาพพื้นที่ ปลูกต้นไม้ ปูหญ้า ทำทางเดินและลู่วิ่งออกกำลังกาย จัดวางม้านั่งสำหรับนั่งเล่นพักผ่อน จัดทำจุดถ่ายภาพเช็คอิน โดยจุดเด่นของสวนคือ เสาชิงช้าจำลอง ซึ่งตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางสวน 2.สวนธนาคารต้นไม้มีนบุรี พื้นที่ 1 ไร่ สำหรับสวน 15 นาที (สวนใหม่) อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนถนนรามคำแหง พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน ปรับพื้นที่เพื่อปลูกไม้ดอกไม้ประดับ จัดทำทางเดิน บ่อน้ำ 2.สวนถนนบึงขวาง ซอย 13 พื้นที่ 12 ไร่ ปรับพื้นที่ ทำคันดิน ทำร่องน้ำ ปลูกต้นไม้ยืนต้น 3.สวนซอยสามวา 3 พื้นที่ 2 งาน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการออกแบบสวน การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้ตรงตามความต้องการของชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์แก่ประชาชน 

สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณหมู่บ้านรินทร์ทอง ซอยรามคำแหง 188 ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดเอกชนเพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม ซึ่ง Hawker Center หมู่บ้านรินทร์ทอง สามารถรองรับผู้ค้าได้ 90 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 114 ราย ได้แก่ 1.ถนนร่มเกล้า ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 2.ถนนรามคำแหง ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-20.00 น. 3.ถนนราษฎร์อุทิศ ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-21.00 น. 4.ถนนสามวา ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-20.00 น. 5.ถนนสีหบุรานุกิจ ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 6.ถนนสุวินทวงศ์ ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 7.ถนนหทัยราษฎร์ ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. และ 8.ถนนหม่อมเจ้าสง่างามสุประดิษฐ์ ผู้ค้า 3 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกพื้นที่ทำการค้า 3 จุด ได้แก่ 1.ถนนร่มเกล้า ผู้ค้า 5 ราย 2.ถนนรามคำแหง ผู้ค้า 10 ราย 3.ถนนหม่อมเจ้าสง่างามสุประดิษฐ์ ผู้ค้า 3 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ รวมถึงพิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ หรือจัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ต่อไป 

ในการนี้มี นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตมีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล