In Global
บทวิเคราะห์'การยกเว้นวีซ่า'ช่วยผลักดัน ความสัมพันธ์จีน-ไทยสูงขึ้นอีกระดับ
เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา ณ กรุงเทพมหานคร ผู้แทนรัฐบาลจีนและไทยได้ร่วมลงนามใน “ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกันสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา” ซึ่งจะมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2024 เป็นต้นไป ถึงเวลานั้นชาวจีนที่ถือหนังสือเดินทางกึ่งราชการและหนังสือเดินทางธรรมดาและชาวไทยที่ถือหนังสือเดินทางธรรมดาสามารถเข้าประเทศอีกฝ่ายได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ซึ่งมีระยะเวลาพำนักแต่ละครั้งไม่เกิน 30 วัน และรวมระยะเวลาไม่เกิน 90 วันภายในช่วงเวลา 180 วัน
นักสังเกตการณ์เห็นว่า การที่จีนและไทยเข้าสู่ “ยุคปลอดวีซ่า” นั้นถือได้ว่า เป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทวิภาคี ก่อนหน้านี้ กระบวนการขอวีซ่าทำให้เป็นอุปสรรคในระดับหนึ่งต่อการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ทุกฝ่ายต่างเชื่อว่า นโยบาย “ปลอดวีซ่า” จะนำมาซึ่งกระแสการแลกเปลี่ยนและการไปมาหาสู่กันครั้งใหม่ระหว่างประชาชนทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนมายังประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมแห่งหนึ่งสำหรับชาวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศมาโดยตลอด ขณะเดียวกันจำนวนคนไทยไปจีนก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน เมื่อความถี่ในการไปมาหาสู่กันระหว่างชาวไทยกับชาวจีนมากขึ้น ประชาชนทั้งสองประเทศก็ย่อมจะใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน และร่วมกันผลักดัน “ความสัมพันธ์ครอบครัวเดียวกันจีน-ไทย” ไปสู่ระดับที่สูงขึ้น
จีนและไทยมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดทางสายเลือดและเชื่อมโยงกันทางวัฒนธรรม และเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มิตรที่ดี ญาติที่ดีและหุ้นส่วนที่ดีซึ่งกันและกัน ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์จีน-ไทยผ่านการทดสอบในการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกและนับวันทวีความมั่นคงยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จีนถือว่าประเทศไทยมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในด้านการต่างประเทศกับประเทศรอบข้างมาโดยตลอด จีนชื่นชมไทยที่ยึดมั่นในหลักการจีนเดียว สนับสนุนแนวคิดข้อริเริ่มสำคัญระดับโลก 3 ประการ ที่เสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และมีส่วนร่วมในการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” อย่างแข็งขัน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2023 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางมาเยือนประเทศไทยด้วยความสำเร็จ ทั้ง 2 ประเทศประกาศว่า จะสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันจีน-ไทยที่มั่นคง เจริญรุ่งเรือง และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความร่วมมือฉันมิตรจีน-ไทย
ไทยเป็นประเทศที่สำคัญในภูมิภาค จีนสนับสนุนประเทศไทยในการขยายบทบาทอย่างเต็มที่เพื่อเสถียรภาพของภูมิภาคและสันติภาพของโลก
จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยเป็นเวลา 10 ปีติดต่อกัน เมื่อปี 2022 ปริมาณการค้าจีน-ไทยสูงถึง 135,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
จีนได้กลายเป็นหนึ่งในแหล่งการลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญของไทย เมื่อปี 2022 การลงทุนโดยตรงของบริษัทจีนในไทยมีมูลค่า 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครองสถานะแหล่งการลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของไทยอีกครั้ง ส่วนการลงทุนของไทยในจีนก็ได้รักษาไว้ซึ่งแนวโน้มการเติบโตที่ดีเช่นกัน
ปัจจุบัน จีนกำลังเพิ่มการลงทุนใน “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” ของไทย การลงทุนที่มีโครงการรถยนต์พลังงานใหม่เป็นจุดเด่นไม่เพียงแต่จะปรับปรุงการจัดวางห่วงโซ่อุตสาหกรรมของบริษัทจีนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยและส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวอีกด้วย จีนเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าเกษตรของไทย นับวันมีข้าว ยางพาราธรรมชาติ ผลไม้เมืองร้อน ฯลฯ จากไทยเข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น จีนและไทยกำลังกระชับความร่วมมือภายใต้กรอบข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยกว่า 90% ของการค้าสินค้าในภูมิภาคจะบรรลุการเก็บภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ในที่สุด ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศแรกที่นำภาษาจีนเข้าสู่ระบบการศึกษาแห่งชาติ ประชาชนชาวไทยเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนอย่างกระตือรือร้น ผลงานภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และวรรณกรรมที่ยอดเยี่ยมจากทั้งสองประเทศได้รับความนิยมอย่างมากจากอีกฝ่าย
ปีหน้าเป็นวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างจีนกับไทย ทั้ง 2 ฝ่ายต่างแสดงว่าจะปฏิบัติตามความเห็นพ้องต้องกันอันสำคัญของผู้นำทั้งสองประเทศ ดำเนินการวางแผนแต่เนิ่นๆ รักษาการแลกเปลี่ยนระดับสูง ถือ “การยกเว้นวีซ่า” ซึ่งกันและกันในครั้งนี้เป็นโอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน และกระชับความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสาขาอื่น ๆ เพื่อร่วมกันส่งเสริมการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกันให้บรรลุผลสำเร็จใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
เขียนโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)