In News
'กรมประมง'เร่งกำจัด'ปลาหมอสีคางดำ' คิกออฟล้างบางใน5จว.ตะวันตกใน1ปี
กรุงเทพฯ-“เกณิกา” เผย "กรมประมง" เร่งกำจัดวงจรระบาด"ปลาหมอสีคางดำ" Kick Off 5 จังหวัด แก้ปัญหาระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติตามนโยบาย "รมว.ธรรมนัส"
วันนี้ (3 ก.พ. 67) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้เปิดปฏิบัติการนโยบายแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ด้วยการมอบธงสัญลักษณ์ และปล่อยขบวนเรือชาวประมงออกปฏิบัติการ 23 ลำในแม่น้ำท่าจีน และปล่อยพันธุ์ปลากระพงขาว 60,000 ตัวพร้อมกันในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด โดยปัญหาปลาหมอสีคางดำได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงชาวประมงได้รับผลกระทบจากการระบาดเข้าไปในบ่อเลี้ยงปลา
น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า กรมประมงได้กำหนดมาตรการระยะเร่งด่วน สร้างการรับรู้ด้วยการ Kick Off ใน 5 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร ที่มีการใช้เครื่องมืออวนรุนชนิดพิเศษ สามารถกำจัดปลาชนิดนี้ได้ 100% ร.อ.ธรรมนัส จึงได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรฯ กำหนดยกเว้นข้อบังคับทั่วไป ให้สามารถใช้อวนรุนจับปลาได้ ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลา 1 ปี และมอบให้กรมการประมงประจำจังหวัด กำหนดพื้นที่ในการจับปลา ภายใต้การควบคุมกำกับของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากการควบคุมในระยะ 1 ปีนี้ ไม่สามารถลดอัตราการขยายพันธุ์ได้ ก็จะทำการขยายประกาศฉบับนี้ต่อไป
“ ร.อ.ธรรมนัส ยังได้ กำชับให้กรมประมงประสานพัฒนาที่ดิน เพื่อนำปลาหมอสีคางดำไปใช้เป็นปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในการเกษตร รวมถึงการแก้ไขปัญหาการถูกกดราคาปลาหมอสีคางดำที่จับได้โดยพ่อค้าคนกลาง เบื้องต้น กรมประมงจะมีการประชุมในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 กับสมาคมปลาป่น โดยจะหาผู้รับซื้อในพื้นที่ และกำหนดราคาซื้อขายที่เป็นธรรมกับชาวประมง”
อย่างไรก็ตาม ปลาหมอสีคางดำไม่ใช่สัตว์น้ำที่เป็นพิษ แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่น ทำน้ำปลา ปลาส้ม ข้าวเกรียบ ไส้อั่ว เป็นต้น ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวประมง รวมถึงพี่น้องเกษตรกรที่อยู่ริมน้ำ สามารถจับปลาชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ ส่วนการต่อยอดในอนาคต ขณะนี้ได้คุยกับสมาคมปลาป่นในการผลิตปลาป่น และกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพคุณภาพสูงจากสัตว์น้ำ