In Bangkok
ผู้ว่าฯ.สัญจรเขตบางกะปิสั่งให้คืนทางเท้า ย้ำโรงเรียนตรวจเข้มเรื่องผิดกฎหมาย
กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯ สัญจร เขตบางกะปิ สั่งคืนสภาพถนน-ทางเท้าเพื่อความปลอดภัย ย้ำโรงเรียนตรวจเข้มเรื่องอาวุธ-ยาเสพติด-บุหรี่ไฟฟ้า ดูแลภาวะจิตใจทั้งนักเรียนและคุณครู
(3 ก.พ. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร” เพื่อติดตามการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตบางกะปิ รวมถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมี นางสาวนภัสสร พละระวีพงศ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกะปิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม ณ สำนักงานเขตบางกะปิ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร เขตบางกะปิ เป็นเขตที่ 49 แล้ว เป็นเขตสำคัญที่มีประชากรอยู่จำนวนมากถึง 141,360 คน มีขนาดพื้นที่ประมาณ 28 ตารางกิโลเมตร และมีความเจริญเข้ามา โดยมีรถไฟฟ้าทั้งสายสีเหลืองและสายสีส้ม
ปัญหาแรกที่เห็นได้ชัดเจนคือสภาพถนนที่ยังมีความทรุดโทรมอยู่จากการก่อสร้าง อาทิ ถนนรามคำแหง ถนนลาดพร้าว จะเห็นว่าการคืนพื้นที่ถนนยังไม่พร้อม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับประชาชนที่สัญจร จึงได้สั่งการให้ดำเนินการคืนสภาพทั้งถนนและทางเท้าอย่างเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
เรื่องที่สอง คือ สวนสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งในพื้นที่เขตมีสวนสาธารณะขนาดย่อยเพิ่มขึ้น แต่สภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร ได้กำชับให้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น
ส่วนปัญหาที่พบในพื้นที่เขตคือเรื่องน้ำท่วม เนื่องจากมีคลองที่สำคัญคือคลองแสนแสบ รวมทั้งมีคลองย่อยและชุมชนอยู่มาก โดยเฉพาะหมู่บ้านที่มีการท่วมหนักคือหมู่บ้านสวนสน ซึ่งยังขาดเขื่อนริมคลองหัวหมาก จึงได้ให้นโยบายในการเร่งทำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ส่วนจุดเสี่ยงน้ำท่วมมีประมาณ 7 จุด ซึ่งทางเขตได้เตรียมเครื่องสูบน้ำสำหรับแก้ไขปัญหา ก็ได้มีการมอบนโยบายให้พัฒนาอย่างถาวรต่อไป
อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องขยะ ในพื้นที่เขตมีตลาดบางกะปิ ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดขยะขนาดใหญ่ ซึ่งเช้าวันนี้มีชาวบ้านร้องเรียนว่ามีการนำขยะมากองบนทางเท้า เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งเหตุผลในการลงพื้นที่กิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร เพื่อได้เห็นปัญหาในพื้นที่และสั่งการแก้ไข โดยเรื่องขยะนี้ ได้สั่งการ ผอ.เขต แก้ปัญหาภายใน 2 วัน และจะต้องปรับปรุงจุดทิ้งขยะให้ดีขึ้น จัดจุดทิ้งให้ชัดเจน ทำความเข้าใจกับผู้ค้า และต้องเข้มงวด ส่วนเรื่องอื่น ๆ ก็ยังมีการพัฒนาปรับปรุงต่อเนื่อง ทั้งทางเท้า หาบเร่แผงลอย น้ำท่วม ห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียน ฯลฯ
สำหรับเรื่องที่เป็นห่วงมากคือเรื่องโรงเรียน เพราะในช่วงนี้ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นถึง 2 เคส คือ นักเรียนทำร้ายกัน และนักเรียนฆ่าตัวตายที่บ้าน จากการวิเคราะห์ในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหาในชุมชน เช่น หากชุมชนมีปัญหายาเสพติดและโรงเรียนอยู่ในเขตชุมชน ก็จะทำให้นักเรียนมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้ ได้ให้นโยบายไปว่าให้สแกนเรื่องยาเสพติดในชุมชนและเปิดช่องทางให้คุณครูได้ทราบปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งแจ้งปัญหาเข้ามา อย่างไรก็ตาม ปัญหาในชุมชนเป็นเรื่องที่ทางส่วนกลางต้องเข้ามาช่วย ต้องเพิ่มกำลังต่าง ๆ ให้ ไม่ใช่หน้าที่หลักของคุณครูจะต้องมาต่อสู้กับปัญหาในชุมชน เพราะคุณครูมีหน้าที่ในการสอนหนังสือ
ปัจจุบันโรงเรียนในพื้นที่เขตบางกะปิ ได้มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ปกครองในการตรวจตรากระเป๋าของนักเรียน สำหรับโรงเรียนเองก็มีทั้งการตรวจอาวุธ ยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า โดยคุณครูจะมีการตรวจก่อนเข้าโรงเรียนหรือก่อนเข้าห้องเรียน และมีทีมเฝ้าสังเกตพฤติกรรม ประกอบด้วย คุณครู สภานักเรียน นอกจากนี้ หากมีบุคคลภายนอกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะให้แลกบัตรเข้า รวมทั้งทางโรงเรียนได้จัดทำเขตปลอดภัยสำหรับนักเรียนด้วย
ในเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันมีการระบาดรุนแรงมากขึ้น พบนักเรียนระดับ ป.1 พกบุหรี่ไฟฟ้าที่มีลักษณะเหมือนของเล่นทั่วไป จึงต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน ต้องช่วยคุณครูในการดูแลอย่างเข้มข้น อาจจะมีการสนับสนุนเครื่องตรวจอาวุธ ซึ่งต้องพิจารณาความจำเป็นของแต่ละโรงเรียนต่อไป นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้เน้นย้ำให้มีการดูแลภาวะจิตใจ ทั้งภาวะซึมเศร้า ภาวะความเครียด ของนักเรียนรวมถึงคุณครูด้วย
ส.ก. เขตบางกะปิ กล่าวว่า ขณะนี้ได้พยายามผลักดันงบประมาณลงเส้นเลือดฝอยตามนโยบายของผู้ว่าฯ โดยปัญหาที่ได้รับมาก็ได้มีการนำงบฯ มาลงในส่วนที่เป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉิน คือ บริเวณสวนสนและหมู่บ้านอยู่สบาย เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนในพื้นที่
● ส่งกำลังใจ ให้ความสำคัญ ผ่านมื้อกลางวันสัญจรกับบุคลากรเขตบางกะปิ
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับบุคลากรสำนักงานเขตบางกะปิ จำนวน 5 คน ได้แก่ นายกิจจาพิมาน ตาดพริ้ง ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (ระบายน้ำ) นางสาวณัชปภา ภู่สุวรรณ์ ตำแหน่ง พนักงานสวนสาธารณะ นางณัชชา แสงสุวรรณ ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (กวาด) นางกาญจนี พึ่งรัตน์ ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (กวาด) บ.2 และนายสัมฤทธิ์ นวลสีอ่อน ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (กวาด) บ.2 พร้อมทั้งสอบถามเรื่องทั่วไป ชีวิตความเป็นอยู่ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน โดยได้พูดคุยให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ขอบคุณที่ร่วมกันทำงานเพื่อประชาชนและพัฒนากรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ การรับประทานอาหารกลางวันเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร” เป็นการให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งบุคลากรดังกล่าวจะปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชน อยู่ในพื้นที่จริงและสามารถเข้าถึงปัญหาได้มากที่สุด เปรียบเสมือนโซ่ข้อสุดท้ายที่เชื่อมกรุงเทพมหานครกับประชาชน สำหรับรายการอาหาร ประกอบด้วย ยอดมะพร้าวผัดกุ้ง ไก่ย่าง แกงเขียวหวานหมู ผัดเผ็ดเนื้อคั่ว ต้มโคล้งปลาสลิด และซาโยเต้ผัดน้ำมันหอย
● ลงตรวจพื้นที่ เยี่ยมชุมชน พบปะประชาชนเขตบางกะปิ
ในช่วงบ่าย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะฯ ลงพื้นที่ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณหน้าตลาดบางกะปิ ผู้ค้า 50 ราย ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 16 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 541 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.พ. 67) ซึ่งเขตฯ ได้จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณดังกล่าว ขอความร่วมมือผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า ร่วมกันดูแลทำความสะอาดพื้นที่ ทิ้งขยะเศษผักเศษผลไม้ในจุดที่เขตฯ กำหนดไว้ พิจารณาปรับปรุงพื้นทางเท้าที่ชำรุดเสียหาย หาแนวทางจัดระเบียบสายสื่อสาร ต่อมาตรวจพื้นที่บริเวณลานบางกะปิภิรมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมบูรณาการ สวนสาธารณะ บ้านหนังสือ และจุดเชื่อมต่อบางกะปิ Sky Walk ทางเดินขึ้นลงรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานเขตบางกะปี สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จากนั้นเดินทางไปร่วมกิจกรรม “รวมน้ำใจสู่นูรู้ลอิสลามวังใหญ่” ณ มัสยิดนูรู้ลอิสลาม วังใหญ่ ถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า และตรวจเยี่ยมชุมชนเยรูชาเล็ม ซึ่งมีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมพื้นถิ่นในการส่งเสริม Soft Power การละเล่นดนตรีแบบวัฒนธรรมมุสลิมมาลายู โดยคณะนาเสป ดนตรีอาหรับ-มาเลย์ ของชุมชนเยรูชาเล็ม เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ บทเพลงที่ใช้ในการแสดงเป็นทั้งเพลงเก่าสมัยปู่ย่าที่ถ่ายทอดโดยการจดจำของผู้สูงอายุในชุมชน และเพลงใหม่ตามสมัยนิยมที่คนรุ่นใหม่นำมาแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างความแปลกใหม่สนุกสนานให้กับการแสดง