In News

ดีอีเตือน!ข่าวปลอมมิจฉาชีพอ้างธนาคาร ให้ยืนยันตัวตน/ฝากเงินเป๋าตังค์3หมื่น



กรุงเทพฯ-กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบมิจฉาชีพแอบอ้างสถาบันการเงิน ออกเอกสารรับรองให้ยืนยันตัวตนเข้าระบบ เพื่อแก้ไขข้อมูลธนาคาร โดยการฝากเงินเข้าระบบกระเป๋าตังค์ 30,000 บาท ขึ้นแท่นอันดับ 1 รองลงมาเป็นเพจปลอมกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดรับสมัครงานแพ็กของ Giftshop เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อจนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 26 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,197,487 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 157 ข้อความ ทั้งนี้ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 133 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 24 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 115 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 63 เรื่อง

ทั้งนี้ ดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 68 เรื่อง อาทิ กฟภ. แจ้งผู้ใช้ไฟฟ้า ชำระค่าไฟไม่สำเร็จ 2 เดือน เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเข้าไปถอดมิเตอร์ หากชำระยื่นหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 22 เรื่อง อาทิ การบินไทย บริการสั่งซื้อตั๋วเครื่องบินพร้อมส่วนลด 10% สำหรับการสั่งซื้อราคาเต็ม ให้ติดต่อและแอดไลน์ฝ่ายบริการลูกค้าเพื่อรับคูปองฟรี 10,000 บาท เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 6 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 19 เรื่อง อาทิ ET50 เปิดโอกาสให้ซื้อหุ้น กองทุนในเครือ CP ราคาพอร์ตเริ่มต้น 1,000 บาท ปันผล 260 บาทต่อวัน เริ่มต้น 5,000 บาท ปันผล 1,600 บาทต่อวัน เป็นต้น

ทั้งนี้ แบ่งเป็นเรื่องการหลอกลวงธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 16 เรื่อง

โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง เอกสารหนังสือรับรองให้ยืนยันตัวตนเข้าระบบ เพื่อแก้ไขข้อมูลธนาคาร โดยการฝากเงินเข้าระบบกระเป๋าตังค์ จำนวน 30,000 บาท

อันดับที่ 2 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊กของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดรับสมัครงานแพ็กของ Giftshop

อันดับที่ 3 : เรื่อง สมุนไพรจมูกปลาหลดใช้รักษาโรคมะเร็ง

อันดับที่ 4 : เรื่อง เงินฉุกเฉิน กู้ง่ายได้จริงไม่ยุ่งยาก ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ผ่านเพจสินเชื่อ ออมสิน

อันดับที่ 5 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รับสมัครพนักงาน รายได้ไม่จำกัด ลงทะเบียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

อันดับที่ 6 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊กชักชวนลงทุนกองทุนผู้สูงอายุ เริ่มต้นเพียง 13,000 บาท ปันผลกำไร 3-5% ต่อสัปดาห์

อันดับที่ 7 : เรื่อง สบู่แดงรักษาโรคมะเร็ง และแผลติดเชื้อเรื้อรัง

อันดับที่ 8 : เรื่อง กฟภ. แจ้งผู้ใช้ไฟฟ้า ชำระค่าไฟไม่สำเร็จ 2 เดือน เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปถอดมิเตอร์ หากชำระแล้วให้ยื่นหลักฐานผ่านลิงก์

อันดับที่ 9 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊กชักชวนลงทุนให้จองหุ้น ราคาเปิดพอร์ต 1,000 กำไรปันผล 12-30% ต่อวัน และ 20,000 กำไรปันผล 3-7% ต่อวัน

อันดับที่ 10 : ออมสินส่ง SMS Mymo ออมสินให้ยื่นกู้ 50,000 บาท ใช้สิทธิ์ด้วยไอดีไลน์ aod476

พร้อมกันนี้ นายเวทางค์ ยังขอความร่วมมือประชาชนตรวจสอบให้รอบด้าน อย่าหลงเชื่อในข้อความเชิญชวนต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการหลอกลวงให้กู้เงิน หลอกลงทุน ให้สินเชื่อต่าง ๆ ของมิจฉาชีพที่ปลอมเป็นธนาคาร หรือผู้ให้บริการทางการเงิน เลือกแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง”