In Bangkok

รองผู้ว่าฯศานนท์ชู 3นโยบายดันกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน 



กรุงเทพฯ-(3 ก.พ. 67) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาพิเศษหัวข้อ “When Policies Meet Design and Creativity : The case studies of Bangkok Design Week and BKK Food Bank” ในงาน Sustainable Gastronomical Experience in UNESCO Locales ณ โรงแรม Amari Bangkok Hotel 

ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวโดยรวมในประเด็นนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกรุงเทพมหานคร การจัดงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 (Bangkok Design Week 2024) และการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม ว่า สำหรับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกรุงเทพมหานคร เป็นนโยบายของกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งเน้นพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่แห่งการสร้าง โอกาส สร้างรายได้ และขยายศักยภาพของเศรษฐกิจเมือง โดยครอบคลุมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ทั้ง 15 สาขา ได้แก่ งานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ ภาพยนตร์ การแพร่ภาพและ กระจายเสียง การพิมพ์ ซอฟต์แวร์ การโฆษณา การออกแบบ การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม แฟชั่น อาหารไทย การแพทย์แผนไทย และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานครจึงได้มีการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเท่าทันต่อกระแสโลก เสริมศักยภาพด้านเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

สำหรับการจัดงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 (Bangkok Design Week 2024) มีการจัดงานตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำเสนอกิจกรรมออกแบบและสร้างสรรค์กว่า 500 กิจกรรม อาทิ นิทรรศการ เวทีเสวนา กิจกรรมเวิร์กช็อป การแสดง เส้นทางการท่องเที่ยว ตลาด และกิจกรรมอีเวนต์ จากนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2,000 ราย วัตถุประสงค์เพื่อมุ่งนำเสนองานออกแบบและงานสร้างสรรค์ที่สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของกรุงเทพมหานครต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผ่านงานสร้างสรรค์ตั้งแต่ระดับของงานทดลองไปจนถึงผลงานที่ส่งผลด้านธุรกิจและเพื่อสังคม ที่จัดแสดงผ่านการใช้งานพื้นที่เมืองในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Districts) ต่าง ๆ พร้อมด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสีสันและประสบการณ์ที่สนุกสนานและน่าจดจำให้กับชาวเมือง รวมทั้งดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสกับความเคลื่อนไหวล่าสุดของกรุงเทพมหานคร

ส่วนการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากปัจจุบันยังมีกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ประสบภัยพิบัติด้านต่าง ๆ ที่ยังขาดแคลนอาหารประจำวัน ที่รอความช่วยเหลือ และพบว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตเป็นอาหารส่วนเกิน (Food surplus) ถูกทิ้งทุกวัน BKK Food Bank เป็นการบริหารจัดการเพื่อรวบรวมอาหารส่วนเกิน (Food surplus) จากผู้บริจาคส่งต่อผู้รับอย่างเป็นระบบ ด้วยการเชื่อมโยงบูรณาการ การทำงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (food security) ให้แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร กลุ่มต่างๆที่ขาดแคลนอาหาร รวมทั้งลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง (Food waste) ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม