In News
อัปเดตป.ป.ช. ภายใต้กระบวนการประเมิน ตามอนุสัญญาสหประชาชาติเรื่องทุจริต
กรุงเทพฯ-ครม.รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใต้กระบวนการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบก้าวหน้าในการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใต้ กระบวนการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อด้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) รวมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้รับในการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ทั้ง 4 หมวด โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย งานศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทน และสำนักงานอัยการสูงสุด นำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานต่อไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป
สำหรับผลการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ สรุปได้ ดังนี้
(1) กฎหมายและการดำเนินการของไทยในภาพรวมมีความสอดคล้องกับอนุสัญญาฯ เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ไทยได้รับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพื่อประโยชน์ในการยกระดับการอนุวัติการอนุสัญญาฯ ของไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นความซ้ำซ้อนของอำนาจหน้าที่ในความรับผิดชอบขององค์กรซึ่งกำหนดและกำกับนโยบายเพื่อป้องกันการทุจริตของไทย โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดฯ มีความเห็นว่า นโยบายการป้องกันการทุจริตของประเทศควรริเริ่มและพัฒนามาจากการถอดบทเรียนจากการปราบปรามการทุจริตระดับชาติเพื่อให้การป้องกันและการปราบปรามการทุจริตมีความสอดคล้องเหมาะสมและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ดังนั้น การจัดตั้งหน่วยงานต่อต้านการทุจริตหลายหน่วยงานอาจก่อให้เกิดอำนาจและหน้าที่ที่ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรอิสระระดับชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มีความรับผิดชอบทั้งด้านป้องกันและด้านปราบปรามการทุจริต และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินภารกิจดังกล่าวโดยปราศจากอิทธิพลและการแทรกแซงใด ๆ อันเป็นไปตามหลักสากลและได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
(2) การประเมินติดตามฯ เป็นการผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งมีความสอดคล้องรองรับตามพันธกรณีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดฐานความผิดการให้และรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศการกำหนดหลักการริบทรัพย์สินตามหลักมูลค่าการกำหนดความรับผิดของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน การกำหนดให้อายุความสะดุดหยุดอยู่หากมีการหลบหนี ความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
(3) ไทยยังคงมีประเด็นตามข้อบทบังคับแห่งอนุสัญญาฯ ที่ยังต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น เช่น การสืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ การกำหนดบทลงโทษสำหรับนิติบุคคลให้มีประสิทธิภาพ ได้สัดส่วน และมีผลในการยับยั้งการกระทำความผิด การห้ามมิให้นำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสินบนมาลดหย่อนภาษี โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่อด้านการทุจริต 2 ประเด็น ดังนี้ 1) การสืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ (Special Investigative Techniques) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เห็นชอบในหลักการให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 โดยกำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ครอบคลุมถึงการสืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ ตามข้อบทที่ 50 แห่งอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นข้อบทบังคับ เช่น การเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ การปฏิบัติการอำพราง และการใช้เครื่องมือสื่อสารหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการสะกดรอย เพื่อให้เข้าถึงและได้มาซึ่งพยานหลักฐานอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบและไต่สวนคดีทุจริตอันเป็นอาชญากรรมร้ายแรง
2) มาตรการชะลอการไต่สวนนิติบุคคล (Non-Trial Resolutions) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เห็นชอบให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์มาตรการชะลอการดำเนินคดีอาญาในชั้นไต่สวนสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 เพื่อนำหลักการชะลอการไต่สวนนิติบุคคลมาใช้บังคับ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บังคับใช้กฎหมายในการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญา โดยเพิ่มกลไกการชะลอการดำเนินคดีกับนิติบุคคล ซึ่งเป็นการยกระดับในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยส่งเสริมให้นิติบุคคลเข้ามาให้ถ้อยคำหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเพื่อให้การปราบปรามการทุจริตเป็นไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการเยียวยาความเสียหายแก่ภาครัฐหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิด การสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจเอกชนในด้านการลงทุนให้เป็นไปด้วยความเข้มแข็ง ยั่งยืน และคงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีการดำเนินการเทียบเท่ามาตรฐานสากลสอดคล้องตามอนุสัญญาฯ รวมถึงหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
“ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ไทยได้รับจากการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ทั้ง 4 หมวด มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการยกระดับการอนุวัติการอนุสัญญาฯ โดยจะส่งผลให้กฎหมายไทยมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานรวมทั้งเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ทั้งนี้ การอนุวัติการดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตในระดับประเทศจึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานในกำกับของราชการฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ” นายคารม กล่าว