In Bangkok
กทม.ประสานกับกรมธุรกิจพลังงานหารือ แนวทางตรวจกำกับตู้น้ำมันหยอดเหรียญ
กรุงเทพฯ-นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบความปลอดภัยตู้น้ำมันหยอดเหรียญในกรุงเทพฯ ว่า สนอ.เตรียมประสานกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติการควบคุม กำกับการประกอบกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง และกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย รวมทั้งประสานข้อมูลและความร่วมมือการตรวจกำกับติดตามการประกอบกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญให้มีความปลอดภัย โดยผู้บริหาร กทม.ได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเขตสำรวจสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยเฉพาะสถานประกอบการตู้น้ำมันหยอดเหรียญ เพื่อกวดขันและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการมายื่นขอรับใบอนุญาตและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขและกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้อง หากผู้ประกอบการยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ สำนักงานเขตสามารถใช้อำนาจสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข หรือสั่งให้หยุดประกอบกิจการได้ โดย สนอ.จะประสานรายละเอียดกับสำนักงานเขตต่อไป
นอกจากนี้ กทม.ยังมีการจัดทำฐานข้อมูลสถานที่ติดตั้งตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงสถานประกอบการด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายที่มีความเสี่ยงสูง และการจัดทำแผนที่ความเสี่ยง (BKK Risk Map) ซึ่งได้พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงภัย (BKK Risk Map) ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้จัดส่งข้อมูลสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่มีการจัดเก็บ การผลิต การสะสม การบรรจุ การขนส่งและการใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) เพื่อลงระบบฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงภัย (BKK Risk Map) โดยแผนที่เสี่ยงภัยสารเคมี ประกอบด้วย ข้อมูลสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและวัตถุอันตราย จำนวน 975 แห่ง และอยู่ระหว่างนำส่งข้อมูลสถานประกอบการดังกล่าวเพิ่มอีก 4,313 แห่ง ข้อมูลร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้ม ๓๘๔ แห่ง ข้อมูลสถานประกอบการสะสมพลุ ดอกไม้เพลิง ๗ แห่ง และข้อมูลสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายระดับสูง 40 แห่ง ข้อมูลสถานประกอบการสารเคมีที่ไม่ได้จำแนกประเภทกิจการ 544 แห่ง ส่วนการจัดทำฐานข้อมูลสถานที่ติดตั้งตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ระหว่างนำเข้าข้อมูลลงระบบฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงภัย (BKK Risk Map)
ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์ภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยมีแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2564-2570 ที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564-2570 ในรูปแบบของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ การบูรณาการและความสามารถของหน่วยงานในการเผชิญเหตุได้อย่างเป็นระบบและเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์สาธารณภัยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีแผนย่อย 9 แผน ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอัคคีภัย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากโรคระบาด แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากวาตภัย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากภัยแล้ง แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นไหวและอาคารถล่ม แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากการคมนาคมขนส่ง และแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากมลพิษทางอากาศประเภท PM2.5 ภัยที่อาจเกิดขึ้นจากสถานประกอบกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ กทม.ได้เตรียมความพร้อมตามมาตรการป้องกันอันตรายและแผนเผชิญเหตุอัคคีภัย ตลอดจนแผนป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย โดยเป็นแผนการปฏิบัติทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ