EDU Research & ESG
TEIชี้ทางรอดPM2.5ภาคเหนือชูงานวิจัย ปรับพฤติกรรม-ร่วมมือทางออกไร้ฝุ่น
กรุงเทพฯ-ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และยังเป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ป่าไม้ที่มีการเผาป่า และพื้นที่เมือง และสำหรับประเทศไทยแม้จะมีการเพิ่มระดับความเข้มงวดปรับค่ามาตรฐานของPM 2.5 โดยปรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 ยังคงเกินค่ามาตรฐานและกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มีโอกาสร่วมประชุมสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” จัดโดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate) ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ความเห็นว่า “ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นปัญหาที่มีมานาน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ มีผลกระทบทั้งในเรื่องสุขภาพและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ ดังนั้นเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน พร้อมกับมีมาตรการที่เข้มงวดทั้งในการจัดการเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ให้มีการเผาพื้นที่เกษตร ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้ต้องขยายไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเมียนมา
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างยั่งยืนและเกิดผลสำเร็จที่มีประสิทธิภาพนักวิจัยได้มีการเก็บข้อมูลทั้ง แหล่งกำเนิดในการเกิดมลพิษและที่มาของฝุ่น ทั้งฝุ่นที่เกิดจากการจราจร การเกษตร ไฟป่า และฝุ่นที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาวและเมียนมา อีกทั้งยังมีการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมในการวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องฝุ่นในประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันนอกจากการเร่งแก้ปัญหาฝุ่นละออง
ขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ต้องทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมต่างๆ ทั้งการทำเกษตรซึ่งเป็นอาชีพของประชาชน การเก็บเกี่ยวพืชผล สภาวะภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ทิศทางลม รวมถึงความชื้นสัมพันธ์ ความหนาแน่นของจุดความร้อน ตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ที่มีผลในการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน จังหวัดในภาคเหนือของไทยจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างหนักที่สุด ทั้งจากการเผาพื้นที่ในการทำเกษตรและพื้นที่ป่า หรือไฟป่าที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งหมด
ดังนั้นหนึ่งในทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 คือ การให้ความรู้แก่ชาวบ้านถึงผลกระทบในการเผาพื้นที่การเกษตร จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่จะต้องมีการเผาในการเริ่มต้นพื้นที่เกษตรใหม่ ด้วยการขับเคลื่อนให้เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง อาทิ กาแฟ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด รวมถึงมีการจัดระเบียบการเข้าออกพื้นที่ป่า ควบคุมการเก็บของป่าและการใช้ประโยชน์ โดยมีการกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า อีกทั้งมีการเฝ้าระวังไฟป่าที่เป็นผลให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ตามมา นอกจากนี้ยังมีการนำโดรนและแอปพลิเคชั่น เช่น FrieD เข้ามาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลอีกด้วย รวมทั้งการดำเนินการใช้มาตรฐานทางกฎหมาย และการจัดการที่ดินที่เข้มงวด
ด้าน วิลาวรรณ น้อยภา ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงการจัดการกับฝุ่น PM 2.5 จากหมอกควันข้ามแดน ว่า “ควรจะมีการแลกเปลี่ยนกลไกการพัฒนาความร่วมมือ ไทย-ลาว-เมียนมาร์ ถึงการแก้ปัญหาหมอกควัน ซึ่งอยู่ในช่วงการเก็บข้อมูลต่างๆ โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงต่างๆ อาทิ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปฏิบัติการจัดการลดหมอกควันข้ามแดนประเทศไทย และจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับนโยบายของแต่ละประเทศ และมองว่าไทยยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการจัดประชุมเชิงปฎิบัติการและการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ ในการลดปัญหาฝุ่น หมอกควัน ควรใช้หลักการป้องกัน เพื่อให้ทำการเกษตรปลอดการเผาและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การควบคุม ผ่านการจัดระเบียบ วางแผน แจ้งการเผา รวมถึงกำหนดเขตห้ามเผา, การใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุ พัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและเศรษฐกิจหมุนเวียน การลดการเผา โดยมีการกำหนดกลไก กติกาต่างๆ โดยทุกอย่างต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจน และปฏิบัติเคร่งครัด พร้อมวัดผลได้ รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมเรื่องอาชีพสำหรับเกษตรกรเพื่อลดการเผาพื้นที่เกษตร รวมทั้งการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่ต่างๆ
เพื่อเปลี่ยนให้ฟ้าที่เคยถูกปกคลุมด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จนส่งผลกระทบกับชีวิตมาเป็นเวลานาน ให้กลับมามีอากาศที่บริสุทธิ์ ต้องมีความเข้าใจในแหล่งที่มาของฝุ่น หมอกควัน พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำเกษตร การเฝ้าระวังไฟป่าผ่านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายภาคประชาชนเข้ามาช่วย โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือเพื่อสร้างอากาศใหม่ที่ไร้ฝุ่น หมอกควัน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับสังคมไทยต่อไป