In Bangkok

กทม.ตั้ง'4ถนนครู'ให้มีเจ้าภาพรับผิดชอบ หลังถูกร้องเรียนบ่อย



ผู้ว่าฯ กทม. กำชับมาตรฐานงานก่อสร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่ถนน พร้อมกำหนด “ถนนครู” นำร่อง 4 เส้น ตรวจเข้มทุกวัน

(12 ก.พ. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในวันนี้ได้มีการเน้นย้ำในเรื่องการดูแลมาตรการก่อสร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่ถนนของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ หน่วยงานต่าง ๆ จึงต้องมาก่อสร้างอยู่บนพื้นที่สาธารณะที่ใหญ่ที่สุดอย่าง “ถนน” โดยสั่งการให้กำกับดูแลอย่างจริงจัง รวมทั้งทบทวนระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระยะใบอนุญาตเป็นระยะครึ่งปีได้หรือไม่ โดยหากผลงานไม่ดี ไม่ทำตามเงื่อนไข ไม่ต่อใบอนุญาตหรือระงับการก่อสร้างได้หรือไม่ มีการวางเงินประกันได้หรือไม่ 

“นอกจากนี้ได้ขอให้ทำถนน 4 เส้นที่ประชาชนร้องเรียนบ่อย เป็น ‘ถนนครู’ หรือถนนต้นแบบ ได้แก่ ถนนพระราม 3 พระราม 4 เพชรบุรี และสาทร พร้อมกำชับว่าทุกฝาบ่อที่มีการเปิดต้องมีผู้รับผิดชอบทั้งฝ่ายเราและหน่วยงานที่ก่อสร้างสาธารณูปโภค ต้องมีการตรวจทุกวันว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ขอให้ทำอย่างจริงจัง เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ในการนี้ ที่ประชุมได้รายงานว่า พื้นที่ถนนของกรุงเทพมหานครมีหน่วยงานที่ก่อสร้างสาธารณูปโภค ได้แก่ 1. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 2. การประปานครหลวง (กปน.) 3. บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และ 4. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งมีสถิติการขออนุญาต ดังนี้ ปี 65 มีขออนุญาตรวม 545 ครั้ง ได้รับอนุญาต 315 ครั้ง ปี 66 มีการขออนุญาตรวม 636 ครั้ง ได้รับอนุญาต 373 ครั้ง และปี 67 มีการขออนุญาต รวม 56 ครั้ง ได้รับอนุญาต 30 ครั้ง 

โดยแต่ละหน่วยงานมีงานก่อสร้างสาธารณูปโภคโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ กฟน. มีโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน (พระราม 3) โครงการในถนนพระราม 4 โครงการพื้นที่ชั้นใน (ถนนชิดลม ถนนเพชรบุรี ถนนดินแดง ถนนสาทร ถนนเจริญราษฎร์) เป็นต้น กปน. มีโครงการก่อสร้างวางท่อประปาบริเวณโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (สัญญา 2 - สัญญา 3) งานก่อสร้างวางท่อประปาในถนนพระราม 9 บริเวณแยกพระราม 9, ในถนนประชาอุทิศ ช่วงซอยประชาอุทิศ 97/1 ถึงแยกถนนกาญจนาภิเษก, ถนนสรงประภา เขตดอนเมือง NT มีโครงการก่อสร้างบ่อพักสายเคเบิ้ลใต้ดิน ท่อร้อยสายเคเบิ้ลใต้ดิน ถนนจรัญสนิทวงศ์ (หน้าไปรษณีย์บางอ้อ-แยกท่าพระ) ถนนพหลโยธิน ร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต เป็นต้น

พร้อมรายงานถึงกระบวนการก่อน-หลังการอนุญาตก่อสร้างสาธารณูปโภค ปัญหาและอุปสรรคของการก่อสร้างสาธารณูปโภค มาตรการควบคุมขณะก่อสร้างสาธารณูปโภค (ด้านการก่อสร้าง, ด้านการจราจร, ด้านการคืนผิวจราจร) และมาตรการควบคุมเพิ่มเติม อาทิ การตรวจรายวัน การประชาสัมพันธ์ การวางเงินค้ำประกัน การคิดค่าปรับกรณีพบข้อบกพร่องและหน่วยงานสาธารณูปโภคไม่ดำเนินการแก้ไข การคิดค่าธรรมเนียมการต่อใบอนุญาตสำหรับโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างล่าช้า ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม. มอบสำนักการโยธารวบรวมข้อมูลการขออนุญาตก่อสร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่เขตต่าง ๆ และควบคุมการก่อสร้างสาธารณูปโภคทั้งหมดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยง