In Bangkok
กทม.ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ น้ำปนเปื้อนสารแอมโมเนียไหลลงคลอง
กรุงเทพฯ-นายสมพร มีหาดทราย ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกลิ่นแอมโมเนียรั่วไหลจากโรงงานผลิตน้ำแข็งว่า จากกรณีดังกล่าวสำนักงานเขตบึงกุ่ม ร่วมกับสำนักอนามัย กทม. เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ และศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำแข็งในซอยนวมินทร์ 111 แยก 15 ซึ่งเป็นสถานประกอบการผลิตน้ำแข็ง ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประกอบกิจการประเภทการผลิต สะสม แบ่งบรรจุ หรือขนส่งน้ำแข็ง โดยเจ้าของกิจการระบุเมื่อวันที่ 21 ม.ค.67 เวลาประมาณ 08.30 น. คนงานแจ้งว่า ระหว่างถ่ายน้ำมันเสื่อมสภาพจากคอมเพรสเซอร์ทำความเย็นเกิดอุบัติเหตุ ทำให้น้ำมันเสื่อมสภาพที่ปนเปื้อนสารแอมโมเนียหกรั่วไหลลงพื้นภายในอาคารโรงงาน คนงานจึงใช้น้ำฉีดล้าง ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของสารแอมโมเนียและน้ำเสียที่ปนเปื้อนน้ำมันเสื่อมสภาพไหลลงคลองตาหนัง โดยประชาชนในพื้นที่โดยรอบรับรู้กลิ่นในเวลาประมาณ 17.00 น. จากนั้นเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางชันได้เข้าตรวจสอบ แต่ไม่พบการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนีย กลิ่นดังกล่าวเกิดจากอุบัติเหตุน้ำมันเสื่อมสภาพที่ปนเปื้อนสารแอมโมเนียหกรั่วไหลลงบนพื้นภายในอาคารโรงงานผลิตน้ำแข็ง เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงจึงได้ระงับเหตุด้วยการฉีดโฟมคลุมจุดที่มีการรั่วไหลและใช้ทรายโรยปิดทับจุดที่หกรั่วไหล
อย่างไรก็ตาม จากการกระทำของคนงานดังกล่าวเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำนักงานเขตฯ จึงได้ออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้บริษัทฯ ปรับปรุงแก้ไขภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.67 และได้ประสานกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สำนักอนามัย กทม.ได้สำรวจสภาพแวดล้อมเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจวัดก๊าซแอมโมเนียด้วยเครื่องวัดปริมาณก๊าซพิษในบรรยากาศ (Toxic gas) ชนิดอ่านค่าได้ทันทีบริเวณภายในและภายนอกสถานประกอบการ ปรากฏผลค่าความเข้มข้นของก๊าซแอมโมเนียที่ตรวจวัดได้บริเวณด้านหน้าอาคารโรงงานและบ้านพักอาศัยของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มีค่าอยู่ที่ระดับ 1 หมายถึง ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่เนื่องจากก๊าซแอมโมเนียมีความเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระดับ 3 ซึ่งมีความเป็นอันตรายสูง สำนักอนามัยจึงได้แนะนำให้สำนักงานเขตฯ ตรวจติดตามการแก้ไขและบำรุงรักษาระบบทำความเย็นของสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวซ้ำอีก
ขณะเดียวกันกรมควบคุมมลพิษ ได้ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนและโรงงานพบว่า ในพื้นที่อาคารโรงงานจุดที่มีการหกรั่วไหลของน้ำมันเสื่อมสภาพ มีค่าสารแอมโมเนียในอากาศ เท่ากับ 10 ppm ซึ่งมีค่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 50 ppm พื้นที่ชุมชนด้านท้ายลมในระยะ 50 และ 100 เมตร ตรวจไม่พบสารแอมโมเนียในอากาศ ขณะที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ ได้สอบสวนโรคพบว่า มีผู้ได้รับผลกระทบ 23 ครัวเรือน จำนวน 113 คน ส่วนใหญ่ได้รับกลิ่นจากแอมโมเนียและมีอาการแสบตาเล็กน้อย มีผู้ป่วยที่เป็นโรคที่หอบเมื่อได้รับกลิ่นจากแอมโมเนีย ทำให้ต้องพ่นยาเพิ่มเติมจากปกติ ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานน้ำแข็งได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว
นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ติดตามการดำเนินการของบริษัทฯ ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ปรับปรุงแก้ไขภายใน 7 วัน พบว่า บริษัทฯ ได้จัดสถานที่ประกอบการให้ถูกสุขลักษณะตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการประกอบการก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพต่อผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ พร้อมทั้งดำเนินการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงจัดการฝึกอบรมและให้ความรู้กับพนักงานเรื่องการตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารแอมโมเนียรั่วไหล พร้อมดำเนินการตามแผนและมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ประกอบการโรงงานผลิตน้ำแข็งดังกล่าวได้ยื่นหนังสือขอขยายเวลาการแก้ไขตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากการจัดให้มีบ่อพักน้ำทิ้งไว้สำหรับรองรับน้ำทิ้งจากพื้นที่โรงงานก่อนระบายออกสู่ภายนอก เพื่อป้องกันการหกรั่วไหลที่อาจเกิดขึ้นอีก บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 7 วัน เพราะต้องวางแบบแปลนระบบการระบายน้ำทิ้งใหม่ รวมถึงการจัดส่งเอกสารการตรวจสอบการรับรองความปลอดภัยของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญชำนาญการและมีคุณสมบัติในการตรวจรับรอง บริษัทฯ ได้ประสานผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าดำเนินการแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบและออกเอกสารรับรองให้ทันภายใน 7 วัน จึงขอขยายเวลาดำเนินการเป็นเวลา 30 วัน โดยจะปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 ก.พ.67
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ สรุปผลจากการตรวจสอบได้ว่า การรั่วไหลของแอมโมเนียดังกล่าวมิได้รั่วไหลจากท่อของระบบทำความเย็นโดยตรง ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบที่จะต้องปิดปรับปรุงระบบทั้งหมด จึงไม่ต้องสั่งปิดสถานประกอบกิจการเพื่อปรับปรุงแก้ไขระบบแต่อย่างใด ส่วนการชดเชยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสำนักอนามัยและกรมควบคุมมลพิษ เพื่อหารือเรื่องการชดเชยกรณีเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมกรณีเกิดการรั่วไหลของแอมโมเนีย รวมถึงหลักเกณฑ์และขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะได้ติดตามตรวจสอบผลการดำเนินการเป็นระยะ ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือประสานศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ เพื่อขอความอนุเคราะห์ตรวจสุขภาพประชาชนริมคลองตาหนัง และสำนักการระบายน้ำ เพื่อขอความอนุเคราะห์เพิ่มการระบายน้ำ ขุดลอกคลอง และปรับปรุงสภาพคลองตาหนังต่อไป