Authority & Harm
กมธ.ปปง.ถกเดือดDSI-กรมบังคับคดีสอบ โครงการชุด'เดอะพอชทเวล์ฟ'นนทบุรี
กรุงเทพฯ-“กมธ.ปปง.” ถกเดือด DSI-กรมบังคับคดี สอบสวน โครงการชุด ”เดอะ พอช ทเวล์ฟ“ เมืองนนทบุรี ไม่คืบเข้าข่ายฉ้อโกง ผู้เสียหายแฉปลูกตึก เก็บเงิน ฟ้องล้มเองเสียหายกว่าสองพันล้าน
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ห้องประชุมกรรมาธิการ N 407 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร พร้อม คณะกรรมาธิการ ปปง. ที่ปรึกษา ได้เชิญ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบดีกรมบังคับคดี เข้าชี้แจงกรณีผู้ประกอบการโครงการอาคารชุด The Posh Twelve (เดอะ พอช ทเวล์ฟ) จังหวัดนนทบุรี หลังจากที่มีผู้ร้องเรียนให้ดำเนินการตรวจสอบเพราะเชื่อว่า โครงการดังกล่าว ซึ่งมี บริษัท กนกกรพัฒนา จำกัด เป็นนอมินีเชื่อมโยงเป็นปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้เข้ามาสอบสวนแต่คดีไม่คืบหน้า เนื่องจาก DSI ยังไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ทางกรมบังคับคดี ได้เตรียมดำเนินการขายอาคารและที่ดินทอดตลาดในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นี้
การชี้แจงจึงเป็นประเด็นการพิจารณาการทำงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งได้เข้ามารับเป็นคดีพิเศษมาเกือบ 2 ปี ที่จะหมดระยะเวลาในการสอบสวนในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงทำให้เกิดกระบวนการฟ้องร้องระหว่างบริษัทที่ล้มละลายกับธนาคารพาณิชย์ จนเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี โดยกรมบังคับคดี ที่เตรียมจะมีการขายทอดตลาด ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ โดยผู้ร้องยังได้นำผังที่ได้แสดงถึงความเชื่อมโยง ไปยังบริษัทผู้ลงทุนที่เป็นตัวการใหญ่เป็นกลุ่มนายทุนต่างชาติ เชื่อมโยงถึง ผู้ถือหุ้ม รวมถึงบริษัทที่เป็นนอมินี ระหว่าง คือ บริษัท กนกกร พัฒนา จำกัด (ลูกหนี้) ถูกบริษัท มินาเรท โฮลดิ้งส์ จำกัด (เจ้าหนี้) ฟ้องล้มละลายและศาลมีคำสั่งล้มละลายไปแล้วว่าเป็นบริษัทที่แหล่งทุนเดียวกัน แต่ทาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังไม่สามารถสรุปคดีนี้ได้
นายสุพจน์ นิตินักปราชญ์ ผู้ร้อง กล่าวว่า สิ่งที่นำมาร้องต่อ กมธ.ปปง.คือการนำผังการดำเนินธุรกิจในโครงการอาคารชุด The Posh Twelve (เดอะ พอช ทเวล์ฟ) จังหวัดนนทบุรี ซึ่งถูกฟ้องร้องให้ล้มละลาย ผังที่นำมาเป็นประเด็นที่ต้องการชี้ให้เห็นว่ากรณีนี้ เชื่อว่าเป็นกระบวนการฉ้อโกง มีการตั้ง นอมินี โดยเฉพาะการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว โดยมี บริษัท กนกร พัฒนา จำกัด เป็นลูกหนี้ แต่มีความเกี่ยวพันไปที่ บริษัท มินาเรท โฮลดิ้งส์ จำกัด (เจ้าหนี้) ที่ยังสามารถสืบค้นไปถึงตัวการใหญ่ที่เป็นบริษัทของคนต่างชาติ 100% เป็นนายทุน แต่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษยังไม่ได้เชื่อมโยงลงลึกไปถึงรายละเอียดและดำเนินคดีโดยการฟ้องร้องแต่อย่างใด จึงต้องการให้สอบสวนไปถึงต้นต่อ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนผู้เสียหาย เนื่องจากมูลค่าความเสียหายมีมูลค่าหลายพันล้านบาท
นายทักษ์ พันธ์วัฒนะสิงห์ หนึ่งในผู้ร้อง กล่าวว่า ปัญหานี้เบื้องต้นเกิดขึ้นมาแล้วเกือบ 2 ปี เท่าที่สามารถรวบรวมได้แบ่งแยกผู้เสียหายออกเป็น 2 ส่วน คือผู้เสียหายที่ซื้ออาคารเพื่ออยู่อาศัยและลงทุน กับ ผู้เสียหายที่ได้เข้าหุ้นเพื่อดำเนินกิจการ แต่กลับมีปัญหาเจ้าของโครงการคือ บริษัท กนกกร พัฒนา จำกัด ถูกบริษัท มินาเรท โฮลดิ้งส์ จำกัด ฟ้องล้มละลายและศาลมีคำสั่งล้มละลายไปแล้ว ส่งผลให้กรมบังคับคดีเข้ามาเพื่อดำเนินการตามกฏหมายในการขายอาคารที่ดินทอดตลาด ซึ่งจะทำให้ผู้เสียหาย ซึ่งได้จ่ายเงินไปแล้วเฉลี่ยคนละกว่า 200,000 - 300,000 บาท หรืออาจจะมากว่านั้นจะไม่ได้รับความเป็นธรรมที่จะได้รับเงินคืน อีกทั้งเมื่อ บริษัท กนกกร พัฒนา จำกัด(ลูกหนี้) และ บริษัท มินาเรท โฮลดิ้งส์ จำกัด (เจ้าหนี้) เป็นกลุ่มคนเดียวกันก็เท่ากับว่า (ลูกหนี้) ซึ่งจะต้องชำระค่าความเสียหายให้กับผู้ร้องแต่ไม่สามารถชำระได้ บริษัท มินาเรท โฮลดิ้งส์ จำกัด (เจ้าหนี้) ซึ่งเป็นกลุ่มคนเดียวกัน ก็ยังจะได้เข้ามารับปะโยชน์จากเงินของกรมบังคับคดีที่ได้จากการขายทอดตลาดด้วย ผลในอนาคตที่จะเกิดขึ้นจะทำให้ ผู้เสียหายจะไม่ได้รับเงินคืนแล้ว ผู้ก่อปัญหายังจะได้เงินอีกด้วย
ด้าน พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษา กมธ.ปปง. กล่าวว่า เรื่องนี้ มีปัญหาความซับซ้อนด้านการลงทุน ความเสียหายเป็นเรื่องของมัดจำที่ บริษัท กนกกร พัฒนา จำกัด ถูกฟ้องล้มละลาย ประเด็นนี้ ควรต้องสอบข้อเท็จจริง เพราะการล้มละลายนั้น ลูกหนี้ เจ้าหนี้ เป็นบุคคลคนเดียวกัน ตอนจบของเรื่อง บริษัท มินาเรทฯ อาจจะได้ทั้งเงินและที่ดินฟรี เป็นลักษณะ ปลูกตึก เก็บเงิน ฟ้องล้มเอง เข้าข่ายอาชญากรรมเศรษฐกิจ กรณีดังกล่าวจึงเชื่อว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ควรที่จะตั้งเรื่องตรวจสอบก่อน เพื่อป้องกันการบังคับคดีในการจำหน่ายที่ดินที่จะทำให้กระทบต่อประชาชนผู้เสียหาย
ด้าน นายเลิศศักด์ พัฒนชัยกุล ประธานคณะกรรมาธิการ ปปง. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่ในครั้งต่อไปจะเชิญ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบดีกรมบังคับคดี มาอีกครั้ง และจะเชิญ ปปง. เข้ามารับทราบข้อมูลในเรื่องนี้ ในส่วน กรมบังคับคดี จึงขอความคืบหน้าเพิ่มเติมสรุปความชัดเจนในการขายทอดตลาด ขอเชิญผู้เสียหายเพื่อหาข้อยุติ ในการปฏิบัติงานของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าจะไปในทิศทางไหนต่อไป
รายงานแจ้งว่าขั้นตอนขยทอดตลาดโดย กรมบังคับคดี เบื้องต้น การดำเนินการก่อสร้างรวมกว่าหนึ่งพันยูนิต การบังคับคดี จะเน้นไปที่คดีแพ่ง ที่จะต้องดูที่มาของหนี้ หมายถึงมูลแห่งหนี้มาอย่างไร ที่ปัญหานี้ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน การขายทอดตลาด ก็ยังอยู่ในอำนาจกรรมการพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่ามีเจ้าหนี้ที่เป็นผู้เสียหายได้ยื่นร้องเอาไว้จำนวน 489 ราย แต่กรมบังคับคดี ตรวจสอบมีกว่า 800 ราย(เจ้าหนี้) มียอดความเสียหายกว่าสองพันกว่าล้านบาท ในส่วนที่จะมีการขายทอดตลาดในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจากยังมีผู้ร้องคัดค้านไว้กว่า 40 ราย กรมบังคับคดี ได้ขยายออกไปเป็นเดือนมีนาคม 2567 แล้ว