Authority & Harm
'ราชทัณฑ์'เดินหน้าจัดตั้งเรือนจำศูนย์ ระหว่างการพิจารณาคดี
นนทบุรี-เมื่อวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08.00 น. ณ เรือนจำพิเศษมีนบุรี พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดเรือนจำศูนย์ระหว่างการพิจารณาคดี โดยมีนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ และนายนนทรัตน์หอมศรีประเสริฐผู้บัญชาการเรือนจำกลางยะลารักษาราชการแทนผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษมีนบุรี ให้การต้อนรับ
ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ มีนโยบายในการแก้ไขปัญหานักโทษล้นคุกอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งนอกจากจะต้องคำนึงถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกประเภทให้เป็นไปอย่างเหมาะสมแล้ว ยังต้องควบคุมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ซึ่งถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาจากศาลว่ากระทำความผิดโดยพันตำรวจเอกทวี สอดส่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบนโยบายแก่กรมราชทัณฑ์ให้ดำเนินการเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากลโดยมีเรือนจำพิเศษมีนบุรี เป็นเรือนจำต้นแบบใช้ชื่อเรียกว่า “เรือนจำศูนย์ระหว่างการพิจารณาคดี”และได้กำหนดให้มีการเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (Kick off) พร้อมกันทั่วประเทศ โดยกรมราชทัณฑ์ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งเรือนจำศูนย์ระหว่างการพิจารณาคดีในเขตจังหวัดต่างๆ แบ่งเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจังหวัดลำปาง กลุ่มจังหวัดพิษณุโลก กลุ่มจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลุ่มจังหวัดขอนแก่น กลุ่มจังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มจังหวัดสงขลา กลุ่มจังหวัดปทุมธานีและกลุ่มกรุงเทพมหานคร
สำหรับเรือนจำอื่นๆ นอกเหนือจาก“เรือนจำศูนย์ระหว่างการพิจารณาคดี” ให้ดำเนินการแยกการควบคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีกับผู้ต้องขังเด็ดขาดตามลักษณะทางกายภาพของเรือนจำตามความเหมาะสมเนื่องจากในบางเรือนจำมีพื้นที่เป็นลักษณะแดนเดียวกันทั้งหมด จึงต้องมีการแบ่งแยกโดยใช้ Block Zoneหรืออย่างน้อยต้องแยกห้องนอนผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีกับนักโทษเด็ดขาดออกจากกันให้เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน
โดยกรมราชทัณฑ์ยังคงปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง (SOPs) ที่ได้มีกำหนดไว้ในเรื่องของการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีซึ่งเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยประกอบด้วยเรื่องการแต่งกาย รองเท้า เครื่องนอน อาหาร การจัดให้มีจุดบริการ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องสมุด ห้องพยาบาล การบริการเยี่ยมญาติ และการพบทนายความ รวมถึงกิจกรรมที่ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีจะได้รับ ซึ่งเน้นกิจกรรมนันทนาการเป็นสำคัญ เช่น ศิลปะและวัฒนธรรม กีฬา ดนตรี เป็นต้น โดยถือปฏิบัติอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล