In News

พน.เดินหน้ายกระดับการแข่งขันพลังงาน เข้าถึงผู้ใช้พลังงานทุกกลุ่ม3ในแนวทาง



กรุงเทพฯ-วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปี 2567  กระทรวงพลังงาน(พน.) พร้อมส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานอย่างเป็นธรรม ในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม สะท้อนต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวทางการพัฒนา 3 แนวทาง ได้แก่

แนวทางการพัฒนาที่ 1 พัฒนาการกำกับกิจการก๊าซธรรมชาติเพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยมีแผนงานและโครงการสำคัญ ดังนี้  (1) การประเมินผล Utilization ของท่อก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจี และศึกษาแนวทางการบริหารท่อก๊าซธรรมชาติและการบริหารสถานีแอลเอ็นจีที่มีผู้ใช้บริการหลายรายให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ (2) ดำเนินงานตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่ กพช. เห็นชอบเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566

แนวทางการพัฒนาที่ 2 พัฒนาการกำกับกิจการไฟฟ้สเพื่อวางรากฐานด้านการแข่งขัน โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานใหม่ตามแนว 4D1E โดยมีแผนงาน/โครงการสำคัญ ดังนี้ (1) โครงการพัฒนากฎระเบียบการกำกับกิจการพลังงานเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีพลิกโฉม (Disruptive Technology) (2) ทบทวนประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับนโยบายแข่งขันในกิจการไฟฟ้า (3) ติดตาม ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากการดำเนินโครงการทดสอบนวัตกรรม ที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) และ (4) โครงการความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กกพ. และธนาคารโลกเพื่อสนับสนุนการกำกับกิจการพลังงาน

แนวทางการพัฒนาที่ 3 สร้างกลไกกำกับดูแลอัตราค่าพลังงานและเสริมสร้างศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนค่าบริการพลังงาน โดยมีแผนงาน/โครงการสำคัญ ดังนี้ (1) กำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า และศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อรองรับการกำกับกิจการไฟฟ้า (2) ทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 (3) โครงการการสอบทานมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีภายใต้การกำกับดูแลสำหรับการจัดทำรายงานทางการเงินและบัญชีเพื่อการกำกับดูแลการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ และ (4) การรายงานบัญชีและการเงินสำหรับกิจการไฟฟ้าตามมาตรฐานสากล และโครงการจัดทำรายงานบัญชีและการเงินเพื่อการกำกับดูแลกิจการก๊าซธรรมชาติตามมาตรฐานสากล

ในขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานยังเดินหน้าปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน ในการมีส่วนร่วม เข้าถึง ใช้ และจัดการด้านพลังงานที่ให้ความเป็นธรรม แก่ทุกฝ่าย ภายใต้แนวทางการพัฒนา 3 แนวทาง ได้แก่

แนวทางการพัฒนาที่ 1 พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชนและผู้รับใบอนุญาต มีส่วนร่วมได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน โดยมีแผนงาน/โครงการสำคัญ ดังนี้ (1) พัฒนาระบบบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนผ่านระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม (2) สื่อสารประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร โดยดำเนินโครงการสื่อสารประชาสัมพันธ์การกำกับกิจการพลังงาน และบริหารภาพลักษณ์องค์กร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการกำกับกิจการพลังงาน อาทิ การกำกับอัตราค่าไฟฟ้า และสิทธิผู้ใช้พลังงาน เป็นต้น และโครงการสร้างความรู้ด้านพลังงานกับกลุ่มเยาวชน และ (3) ส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู็ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้าผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

แนวทางการพัฒนาที่ 2 สร้างเครือข่ายพันธมิตรการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน โดยมีแผนงาน/โครงการสำคัญ ดังนี้ (1) สร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน 15 จังหวัด (2) กำหนดแนวทางยกระดับการสร้างเครือข่ายของคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตไปยังระดับอำเภอ และ (3) กำหนดแนวทางการปฏิรูปการสรรหาคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต

แนวทางการพัฒนาที่ 3 การบริหารจัดการที่ทันสมัยและส่งเสริมการมีส่วนร่วม การดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (3) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยมีแผนงาน/โครงการสำคัญ ดังนี้ (1) กำหนดรูปแบบวิธีการ กลไก และแนวทางการปรับปรุงระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติเพื่อนำ Application มาใช้ในการคัดเลือกโครงการชุมชนในพื้นที่ประกาศกองทุน
พัฒนาไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม (2) กำหนดพื้นที่ประกาศ หลักเกณฑ์ ประกาศ และปรับปรุงคู่มือในการปฏิบัติงาน ให้สอดคล้องกับระเบียบว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจาก การดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ. 2563 และ (3) โครงการประกวดกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

“กระทรวงพลังงานเดินหน้าส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน พร้อมๆ ไปกับการประเมินสถานการณ์และทิศทางการพัฒนาพลังงาน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และชุมชนในท้องถิ่น เพื่อความยั่งยืนและความมั่นคงทางพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” นางรัดเกล้าฯ กล่าว