EDU Research & ESG
วว./กองทุนส่งเสริมววน.พัฒนาศักยภาพ อุตสาหกรรมไทยให้ยั่งยืน
กรุงเทพฯ-วว./กองทุนส่งเสริม ววน. มุ่งพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไทยให้ยั่งยืนถ่ายทอดความรู้ กฎระเบียบ IoT Technology &การประยุกต์ใช้งาน
ดร.วดี วิชัยดิษฐ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง "IoT Technology และการประยุกต์ใช้งานเพื่อความยั่งยืน"โดยการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ภายใต้โครงการยกระดับศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ตามนโยบายรัฐบาลและนโยบาย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ”จัดโดย กลุ่มบริการอุตสาหกรรม วว. เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านมาตรฐานและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับไอโอที สู่การนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆรวมทั้งเผยแพร่ความสามารถการบริการทดสอบให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายแก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ
“...วว. โดย กลุ่มบริการอุตสาหกรรมมีบทบาทหลักในด้านการบริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ งานด้านการตรวจประเมินและรับรองระบบคุณภาพ งานบริการที่ปรึกษาการจัดทำระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ รวมถึงให้ความรู้ผ่านการอบรมและสัมมนา ซึ่งมีบทบาทในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้วิสัยทัศน์ของ วว. ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ SMEsและชุมชนผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน ปัจจุบัน มีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการนำอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : I0T) เข้าไปช่วยเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหรืออุปกรณ์ไอโอทีไปประยุกต์ใช้ใน Smart City, Smart Farm,ด้านการป้องกันประเทศ ด้านการแพทย์ และด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดย วว. ได้ขยายการให้บริการทดสอบอุปกรณ์ไอโอทีเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการทดสอบมากยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนผลิต เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศ...” ผู้อำนวยการ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา วว. กล่าวสรุป
การสัมมนาIoT Technology และการประยุกต์ใช้งานเพื่อความยั่งยืนประกอบด้วยการบรรยายพิเศษในหัวข้อ 1) มาตรฐาน IoT และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2) การทดสอบอุปกรณ์ไอโอที 3) IoT Technology & Trends 4) IoTในยานยนต์ไฟฟ้า 5) IoT ในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ 6) การประยุกต์ใช้ IoT เพื่อความยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ได้แก่ ส่วนนโยบายและส่งเสริมด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)สมาคมไทยไอโอทีสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยสมาคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศบริษัท อาร์เอฟ แอพพิเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการด้าน IoT Solution ของฝ่ายบริการธุรกิจดิจิทัลบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) โดยได้รับความสนใจจาก ผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า ผู้ผลิต นักวิจัยกลุ่มลูกค้า และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ที่คาดว่าจะมาใช้บริการ วว. ในอนาคต ประมาณ 120 ท่านเข้าร่วมการสัมมนา ซึ่งจะได้นำความรู้ ความเข้าใจจากการสัมมนานี้ไปเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไทย ตลอดจนการสนับสนุนจากภาครัฐด้วยนโนบายส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาส ลดอุปสรรค ทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไป
วว. พร้อมให้บริการผ่านแพลตฟอร์มระบบบริการลูกค้าออนไลน์ “วว. JUMP” www.tistr.or.th (https://tistrservices.tistr.or.th/) เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วให้แก่ลูกค้า หรือติดต่อได้ที่ Call centerโทร. 0 2577 9000