In News

ทส.เข้มติดตามสถานการณ์พื้นที่วิกฤต เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นPM2.5ภาพรวมปท.



กรุงเทพฯ-ปลัดฯ จตุพร เข้ม ติดตามสถานการณ์พื้นที่วิกฤต หมอกควัน ไฟป่า เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภาพรวมของประเทศ

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15.00 น. นายจตุพร  บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์หมอกควัน ไฟป่า และการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยมี ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ พร้อมด้วยทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ รองผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ (สคพ.) สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ (สจป.) ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 17 และผ่านระบบการประชุมทางไกล Video Conference

โดย ปกท.ทส. ได้นำความห่วงใยของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงสถานการณ์หมอกควัน ไฟป่า และปัญหาฝุ่น PM2.5 ในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) และข้อมูลจุดความร้อนจากจิสด้า พบว่า ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา มีจังหวัดที่มีจุดความร้อนสูงอย่างต่อเนื่อง 5 อันดับแรก ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา เพชรบูรณ์ และราชบุรี ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ป่า ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ ส.ป.ก. และพื้นที่เกษตร ซึ่งนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ให้ความสำคัญเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไข  

โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ได้มีข้อสั่งการเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน 1) กรณีจุดความร้อนในพื้นที่ป่า ทั้ง 11 ป่าอนุรักษ์ และ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ ขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ เฝ้าระวัง ควบคุม และดับไฟให้เร็ว สำหรับพื้นที่อื่น ๆ ให้ ทสจ. และ สคพ. เป็นหูเป็นตา โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตร หากพบการเผาต้องแจ้งจังหวัด จับดำเนินคดีตามมาตรการทุกกรณี และประสานงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อประกาศมาตรการต่าง ๆ แจ้งเตือนประชาชน ได้อย่างทันกับสถานการณ์ 2) ขอให้สื่อสารสร้างการรับรู้ สร้างความร่วมมือและความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ เพื่อปฏิบัติตามคำแนะนำ งดการเผา งดการเข้าป่า พร้อมหาแหล่งทุนอื่นเข้าร่วมชดเชย รวมถึงร่วมแจ้งเบาะแสการเผาแก่เจ้าหน้าที่ 3) ขอให้เตรียมการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่เกิดไฟไหม้ไปแล้ว และ 4) ขอให้นำข้อมูลการพยากรณ์อากาศ จากศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ ของกรมควบคุมมลพิษ มาปรับใช้ในการเตรียมการป้องกันและแก้ไขให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ต่อไป